แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่มุ่งเน้นการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs (Non Communicable Diseases) ที่ขณะนี้มีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นถึงปีละ 400,000 คน ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศสูญเสียงบประมาณในการรักษาพยาบาลกว่า 62,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้ง ผู้ป่วยยังสูญเสียรายได้ จากการใช้เวลาในการเข้ารักษาพยาบาล กรมอนามัย ขานรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าตามยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของบุคลากรหรือเป็นเจ้าขององค์กรในการสร้างสุขภาพดี ทั้งในสถานที่ทำงาน โรงเรียน ชุมชน ศาสนสถาน ฯลฯ โดยเริ่มต้น Kick Off ที่สภาผู้แทนราษฎร หวังสร้างเป็นองค์กรสุขภาพดี จากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการส่งเสริมสุขภาพ ระหว่าง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยมี ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนามร่วม พร้อมทั้งเปิดตัว "โครงการคนสภาไร้พุง" ถือเป็นความร่วมมือในการสร้างเสริม สนับสนุน สร้างความตระหนัก ความรอบรู้ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพ ทั้งด้านการบริโภคอาหาร นับคาร์บ ลดหวาน มัน เค็ม และการออกกำลังกาย อย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์ หรือ เพิ่มการมีกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพอยู่เสมอ รวมทั้งการจัดการอารมณ์ เพื่อผ่อนคลายความเครียด ด้วยการฝึกสมาธิ หรือมีงานอดิเรก เป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อให้บุคลากรในองค์กรมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อสุขภาพ โดยเปิดตัวโครงการ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมสัมมนา บี 1-1 ชั้น บี 1 อาคารรัฐสภา ซึ่งกรมอนามัยคาดหวังว่าโครงการคนสภาไร้พุงจะเป็นของขวัญปีใหม่ที่ดีสำหรับบุคลากรในรัฐสภา และยังเป็นองค์กรต้นแบบสำหรับเผยแพร่โครงการฯ และสร้างความตระหนักไปยังภาคส่วนอื่นๆ ต่อไป
"ทั้งนี้ โครงการสภาไร้พุงกรมอนามัยได้ประเมินและทดสอบด้านสุขภาพของบุคลากรก่อนเริ่มต้นโครงการ จำนวน 500 คน ด้วยการให้เจ้าหน้าที่ประเมินค่า BMI และวัดเส้นรอบเอว พบว่า บุคลากรส่วนใหญ่เริ่มมีความเสี่ยงโรคอ้วน และโรค NCDs จากนั้น กรมอนามัยจึงให้ความรู้ด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย แนะนำการจัดอาหารสุขภาพ และสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพ พร้อมวางแผนการดำเนินงานต่อเนื่องในช่วง 6 เดือน เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาที่ยั่งยืน สำหรับด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมกรมอนามัยจะให้ความสำคัญมาก และจะติดตามเพื่อให้ข้อแนะนำในการปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในองค์กรที่อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมสุขภาพของบุคลากร รวมทั้ง วางแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพสำหรับบุคลากรให้มีสุขภาพแข็งแรงอีกด้วย" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว