สสส. wearehappy ร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเทศบาลตำบลเดิด จ.ยโสธร ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและครอบครัวผ่านนิเวศสื่อสุขภาวะ

ข่าวทั่วไป Friday December 27, 2024 16:26 —ThaiPR.net

สสส. wearehappy ร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเทศบาลตำบลเดิด จ.ยโสธร ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและครอบครัวผ่านนิเวศสื่อสุขภาวะ

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลเดิด จังหวัดยโสธร เป็นเครือข่าย โครงการ "มหัศจรรย์สื่อนิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย " ได้รับแรงบันดาลใจจากความเชื่อที่ว่า "เด็กทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาวะ" ตั้งอยู่ใกล้กับค่ายลูกเสือและค่ายทหารบดินทรเดชา พื้นที่นี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ ตั้งแต่การอ่านนิทาน การเล่นจักรยานขาไถ การฝึกสมาธิ และการออกกำลังกายแบบง่ายๆ เช่น การเล่นฮูล่าฮูป เหล่านี้ล้วนถูกบูรณาการเข้าสู่ชั้นเรียนด้วยแนวคิดของ 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี)

จุดเริ่มต้นแห่งการสร้างสรรค์พื้นที่สุขภาวะ

โครงการนี้โครงการ "ครอบครัว 3 ดี" ภายใต้แนวคิด "มหัศจรรย์นิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อเด็กปฐมวัย" โดยการสนับสนุนจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้การบริหารงานโดยกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์พื้นที่ปลอดภัยและกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กเติบโตอย่างสมวัย พร้อมทั้งส่งเสริมบทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และทุกภาคส่วนในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเดิดจะได้ยินเสียงหัวเราะของเด็กๆ ที่วิ่งเล่นในพื้นที่ดี ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยความร่วมมือของชุมชน มีโค้ชเด็กในชุมชนดูแลอย่างใกล้ชิด มีพ่อแม่ ผู้ใหญ่ใจดีร่วมสนับสนุน สิ่งสำคัญคือ "การเรียนรู้ผ่านการเล่น" จากสื่อ กิจกรรม และพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งเด็กๆ ได้มีโอกาสพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

ปลุกหัวใจชุมชน สร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง

โครงการนี้แม้กลุ่มเป้าหมายจะเป็นเด็กปฐมวัย แต่การทำงานเน้นให้ครอบครัวเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลง ผู้ปกครองได้รับเชิญชวนให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในกิจกรรมของโครงการ ผ่านแนวคิดของ ครอบครัว 3 ดี คือ ครอบครัวตัวอย่างที่ใช้กระบวนการสื่อหรือพื้นที่สร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้กับเด็กในครอบครัว และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมของศูนย์ฯ อย่างสม่ำเสมอตลอดโครงการ สามารถบอกเล่า/อธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กและครอบครัวได้ และครอบครัวร่วมจัดพื้นที่สร้างสรรค์ในบ้าน เช่น มุมหนังสือ มุมเล่นอิสระ มุมการเรียนรู้ต่างๆ หรือพื้นที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย เช่น การอ่านหนังสือนิทานร่วมกับลูก การสร้างของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ และการร่วมปรับปรุงพื้นที่เล่นให้ปลอดภัย

กิจกรรมที่จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเดิด และศาลาวัดบ้านนาคำ กลายเป็นเวทีที่ทุกครอบครัวได้มาพบปะและสนุกไปกับกิจกรรม 3 ดี กิจกรรมเหล่านี้สร้างความสุขให้กับเด็กและครอบครัว ช่วยลดการใช้หน้าจอมือถือของเด็ก ได้แก่

  • ดีจากการเล่น เล่นจักรยานขาไถ ฮูล่าฮูป และกิจกรรมกลางแจ้ง
  • ดีจากการเรียนรู้ อ่านนิทาน ประดิษฐ์ของเล่น และทำกิจกรรมศิลปะร่วมกัน
  • ดีจากการสร้างสัมพันธ์ พี่ดูแลน้อง เด็กๆ เล่นร่วมกัน สร้างมิตรภาพระหว่างวัย

เสียงสะท้อนจากผู้มีบทบาทสำคัญ

พรทิพา แซ่ลิ้ม รองปลัดเทศบาลตำบลเดิด กล่าวถึงแนวคิดการบูรณาการ ครอบครัว 3 ดี กับการทำงานสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในพื้นที่ว่า "เรามี ครอบครัว 3 ดี คือครอบครัวต้นแบบที่นำแนวคิดพื้นที่สร้างสรรค์และกระบวนการสื่อดีๆ ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การจัดมุมหนังสือ มุมเล่น หรือมุมเรียนรู้ในบ้านของตัวเอง 70 ครอบครัว ความพิเศษของครอบครัวเหล่านี้คือ พวกเขาสามารถบอกเล่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเด็กและในครอบครัวได้อย่างชัดเจน ทั้งในด้านพัฒนาการ อารมณ์ และความสัมพันธ์ในครอบครัว"

ดวงใจ ทองแก้ว นักวิชาการศึกษาชำนาญการ ผู้เป็นแรงผลักดันสำคัญของโครงการนี้ กล่าวว่า "การพัฒนาเด็กปฐมวัยไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนในชุมชน เราอยากให้เด็กๆ เติบโตในพื้นที่ที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความรัก ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงพื้นที่ การสร้างกิจกรรม หรือเพียงแค่การให้เวลากับลูกหลานของเรา"

หัวใจของผลลัพธ์คือความร่วมมือในชุมชน

ความสำเร็จของโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตั้งแต่คุณครูปฐมวัย ทีมโค้ชเด็กในชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ไปจนถึงผู้บริหารและหน่วยงานต่างๆ เช่น ค่ายบดินทรเดชา ที่สนับสนุนทั้งกำลังพลและวัสดุอุปกรณ์มาร่วมพัฒนาให้เกิดพื้นที่กิจกรรมทางกาย พื้นที่สนามสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ กลายเป็นพื้นที่เล่นของเด็กๆ ที่ปลอดภัย โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์เล่น เช่น ตาข่ายปีนป่าย และพื้นที่วิ่งเล่นกลางแจ้ง พร้อมทั้งมีการออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ส่งเสริมให้เด็กและผู้ปกครองได้มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การระบายสี การทำหน้ากากจากเศษวัสดุ และการอ่านนิทานเสียงดัง เด็กๆ ได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณค่า โดยมีผู้ใหญ่ใจดีคอยดูแล เหล่านี้กลายเป็นนิเวศสื่อ รอบตัวที่สร้างสุขภาวะให้กับเด็กๆได้มีพัฒนาการที่สมวัย

ทั้งนี้ ดร.สรวงธร นาวาผล ผู้อำนวยการกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ กล่าวแนะนำ เพิ่มเติมถึงการสร้างนิเวศสื่อสุขภาวะแบบ 3 ดี ว่า "การเติบโตของเด็กๆ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในบ้านหรือโรงเรียน แต่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในชุมชน การสานต่อกิจกรรมจากโครงการนี้จะยิ่งประสบความสำเร็จ หากชุมชนและผู้ปกครองมีความร่วมมือและมุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับเด็ก ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นจากคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากทุกคนในชุมชนที่ร่วมกันดูแล สร้างสรรค์ และส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของเรา" โดยสามารถทำได้ดังนี้

  • สร้างเครือข่ายชุมชนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเด็ก โดยตั้งกลุ่มหรือคณะทำงานที่มีตัวแทนจากทุกฝ่าย เช่น ผู้ปกครอง ครูปฐมวัย ผู้นำชุมชน และองค์กรในพื้นที่ เพื่อช่วยกันวางแผนและจัดกิจกรรม มีการ พัฒนา "พื้นที่สร้างสรรค์" เพิ่มเติมในชุมชน เช่น ศาลาวัด สนามเด็กเล่นกลางแจ้ง หรือศูนย์อ่านหนังสือ
  • จัดกิจกรรมประจำชุมชน เช่นกำหนดวันหรือเวลาเป็นประจำ (เช่น ทุกวันอาทิตย์) เพื่อให้เด็กๆ และครอบครัวมารวมตัวทำกิจกรรม เช่น การอ่านหนังสือร่วมกัน เล่นกีฬา หรือกิจกรรมศิลปะ เชิญผู้มีความรู้ในชุมชน เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้มีทักษะเฉพาะด้าน มาเป็นวิทยากรหรือโค้ชให้เด็กๆ
  • สร้างคลังสื่อและของเล่นจัดทำเป็นธนาคารสื่อสร้างสรรค์ โดยสามารถนำสื่อที่ครูผลิตมา ตั้งจุดยืมหนังสือ นิทาน หรือของเล่นสร้างสรรค์ในชุมชน เช่น ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือวัด กระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมอาจเป็นการบริจาคหนังสือ ของเล่น หรืออุปกรณ์เสริมพัฒนาการเด็ก

  • เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ