เราต่างก็ทราบดีว่าโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย ควบคู่ไปกับการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ จนนานาประเทศต้องทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคืนสมดุลให้โลก เกิดเป็นมาตรการระดับประเทศเพื่อใช้บริหารจัดการและจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ที่เรียกว่า "การจัดเก็บภาษีคาร์บอน" นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ
สำหรับประเทศไทย มีเจตนารมณ์ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20-25 ภายในปี พ.ศ. 2564-2573 (ค.ศ. 2021-2030) หรือก็คือลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้อย่างน้อย 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 ส่งผลให้ประเทศไทยกำลังจะมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนให้ได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ และออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคตอันใกล้มาก ๆ เช่นกัน
ภาษีคาร์บอนคืออะไร
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) (องค์การมหาชน) มีหลักการและแนวคิดของภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ว่าเป็นหลักการที่กำหนดให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้อง "จ่ายค่าปล่อยก๊าซเรือนกระจก" ตามหลักการของ "ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย" (Polluter Pay Principal) โดยรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดอัตราภาษีต่อหน่วยการปล่อย (ต่อ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า) ซึ่งอาจเก็บจากการใช้ประโยชน์ เช่น การเก็บภาษีตามปริมาณคาร์บอนในน้ำมันเชื้อเพลิง (Carbon Tax) หรือเก็บจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของแหล่งปล่อย (Emission Tax) ก็ได้
ภาษีคาร์บอน จัดเป็นหนึ่งในกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Mechanism) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการกำหนดต้นทุนหรือราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของตัวเงิน และราคาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมีต้นทุนที่ชัดเจน จึงสามารถผลักดันให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การที่หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้กำหนดภาษี ข้อดี คือมีความชัดเจนและง่ายต่อการบริหารจัดการ แต่ก็ต้องมีการกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจมากเกินไป
อัตราภาษีคาร์บอน จึงนับว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่กำหนดว่าสังคมจะสามารถบรรลุจุดที่มีต้นทุนโดยรวมต่ำที่สุดได้หรือไม่ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ อัตราภาษีที่เหมาะสม คือระดับที่ทำให้ต้นทุนการบำบัดก๊าซเรือนกระจกส่วนเพิ่ม เท่ากับ ต้นทุนความเสียหายของสังคมส่วนเพิ่ม โดยภาษีคาร์บอนมีข้อดี คือช่วยให้รัฐบาลมีรายได้ ลดการบิดเบือนของการจัดสรรทรัพยากร กระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงเทคโนโลยี และมีความยืดหยุ่นในการปรับอัตราภาษี แต่ก็มีข้อเสีย คือผู้กำหนดนโยบายจะต้องทราบข้อมูลที่ชัดเจน ทั้งต้นทุนการลด ต้นทุนความเสียหาย และต้องทราบความยืดหยุ่นของอุปสงค์และอุปทานในตลาด เป็นต้น
โดยวิธีการคำนวณภาษีคาร์บอน คือ ราคาคาร์บอน (บาท/น้ำหนักคาร์บอน) x การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสินค้า (เชื้อเพลิง) (น้ำหนักคาร์บอน/น้ำหนักหรือปริมาณสินค้า) = ภาษีคาร์บอน (บาท/น้ำหนักคาร์บอน)
ทำไมต้องมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน
จากผลการรายงาน "Greenhouse Gas Bulletin 2024" ซึ่งจัดทำโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้เปิดเผยข้อมูลความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศในปี 2023 ที่พบว่าพุ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 12 ปีซ้อน ทำให้ปัญหาโลกร้อนส่งผลกระทบชัดเจนมากขึ้น การออกนโยบายระดับประเทศเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงกลายเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญ โดย "ภาษีคาร์บอน" เป็นหนึ่งในนโยบายที่สร้างขึ้น ด้วยมุ่งหวังจะปรับพฤติกรรมทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค ดังนี้
ภาษีคาร์บอน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง
ภาษีคาร์บอน อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้
ภาษีคาร์บอน อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ ดังนี้
ภาษีคาร์บอนในประเทศไทย
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดการจัดเก็บภาษีคาร์บอนโดยตรง และก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยเคยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกอยู่ช่วงหนึ่ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศที่สามารถขายเป็นคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และกรมสรรพากร จึงผลักดันมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ธุรกรรมการจำหน่ายคาร์บอนเครดิต โดยกรมสรรพากรได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 514) พ.ศ. 2554 ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เพื่อกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ แก่บริษัท ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาดภายใต้พิธีสารเกียวโต และโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีการนำแนวคิดการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมาใช้ในรูปแบบภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าบางประเภท อย่างรถยนต์ โดยได้เริ่มนำแนวคิดการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมาใช้ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตามกฎกระทรวง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 โดยเป็นการจัดเก็บภาษีคาร์บอนทางอ้อมจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อ้างอิงตามปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี หากปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 150 กรัม/กิโลเมตร มีอัตราภาษีร้อยละ 25 ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 150-200 กรัม/กิโลเมตร มีอัตราภาษีร้อยละ 30 และถ้าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 200 กรัม/กิโลเมตร มีอัตราภาษีร้อยละ 35 ส่วนรถยนต์นั่งความจุของกระบอกสูบเกิน 3,000 ซีซี มีอัตราภาษีร้อยละ 40
ในส่วนของการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในอนาคตอันใกล้ จำเป็นต้องดำเนินการตามบริบทของมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประชาคมโลก ที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด และเพื่อให้ผู้ส่งออกนำไปใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ที่ทางสหภาพยุโรป (EU) จะเรียกเก็บจากผู้ส่งออกในปี 2569 ไทยจึงจะเริ่มจัดเก็บภาษีคาร์บอนให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียน (ต่อจากสิงคโปร์) ที่มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน
ในระยะแรก จะเริ่มต้นเก็บจากภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่มีการเรียกเก็บอยู่แล้วให้กลายเป็นภาษีคาร์บอน โดยในปัจจุบัน กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล อยู่ที่ 6.44 บาท/ลิตร และภาษีน้ำมันเบนซิน อยู่ที่ 6.50 บาท/ลิตร และสำหรับอัตราภาษีคาร์บอนที่จะเรียกเก็บ อยู่ที่ 200 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าเป็นการจัดเก็บที่ถูกเกินไป จนไม่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ สำหรับการใช้เป็นมาตรการการคลังเพื่อกดดันอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง
อีกทั้งประเทศไทยยังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกการใช้คาร์บอนเครดิต และการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ซึ่งจะกำหนดกรอบการดำเนินงานและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกร่างกฎหมายที่มีเป้าหมายในการบรรลุการลดก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2065 (พ.ศ. 2608) กำหนดให้ภาคเอกชนต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง และครอบคลุมถึงระบบการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และระบบภาษีคาร์บอน
"ราคาที่ต้องจ่าย" เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีจากสิ่งแวดล้อมที่สะอาดขึ้น
สิ่งที่ผู้บริโภคควรรู้ก็คือ ภาษีคาร์บอน ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ระดับประเทศหรือองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ผู้บริโภคอย่างเราก็อาจได้รับผลกระทบโดยตรงในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ราคาสินค้าที่สูงขึ้น ไปจนถึงการต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินต์ เพราะเมื่อรัฐบาลจัดเก็บภาษีคาร์บอน ธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากจะมีต้นทุนสูงขึ้น และต้นทุนเหล่านี้ก็มักถูกส่งต่อมายังผู้บริโภคผ่านราคาสินค้าและบริการ จึงอาจทำให้ชีวิตประจำวันของเรามีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ถึงอย่างนั้น เป้าหมายของภาษีคาร์บอน คือการกระตุ้นให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอยู่แล้ว เช่น ใช้พลังงานสะอาด ลดการเดินทางที่ใช้พลังงานสูง หรือเลือกซื้อสินค้าที่มีฉลากรับรองการปล่อยคาร์บอนต่ำ
ในอนาคตข้างหน้า ภาษีคาร์บอน จะกลายเป็น "ราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย" ให้แก่รัฐ ซึ่งอาจไม่ใช่เพียงตัวเงินที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าและบริการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปรับตัวในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางที่ต้องคำนึงถึงการปล่อยคาร์บอน แม้กระทั่งการเลือกซื้อสินค้าจากแหล่งที่ยั่งยืน มีฉลากคาร์บอนรับรอง อย่างไรก็ดี ประเทศสวีเดน เป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ภาษีคาร์บอนจัดการกับสภาพอากาศ นับตั้งแต่เริ่มบังคับใช้นโยบายนี้ในปี 1991 (พ.ศ. 2534) สวีเดนสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึงร้อยละ 25 แม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในหลายภาคส่วนก็ตาม
ดังนั้น หากประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายบังคับใช้การจัดเก็บภาษีคาร์บอน ผู้บริโภคก็จำเป็นต้องพร้อมรับมือ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้วิธีลดคาร์บอนฟุตพรินต์ในชีวิตประจำวัน หรือสนับสนุนสินค้าสีเขียวที่ผลิตโดยธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าภาษีคาร์บอนอาจทำให้เราต้องจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาว "ราคาที่เราจ่าย" จะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของโลกในรุ่นลูกรุ่นหลานให้น่าอยู่มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบ ทว่าก็เป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะโลกร้อนไม่ใช่แค่อากาศที่ร้อนขึ้น หรือภัยพิบัติที่รุนแรงยากจะรับมือ แต่คืออนาคตของโลกที่จะไม่มีทางให้หันหลังกลับ!
เพราะเป้าหมายสำคัญที่ทุกประเทศต่างช่วยกันดำเนินการในเวลานี้ คือการจำกัดอุณภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายใต้ความตกลงปารีส ภาษีคาร์บอน จึงเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ถูกนำมาบังคับใช้เพื่อจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ว่าในมุมหนึ่ง ภาษีคาร์บอนจะถูกมองว่าเป็น "ภาระ" ของผู้บริโภค แต่ในภาพรวม มันคือ "แรงผลักดัน" ที่ทำให้สังคมหันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยที่ผู้บริโภคเองก็จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย
บทความประชาสัมพันธ์จาก : บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด www.apollothai.com
ติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE ID : @apollothailand