นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้อหิวาตกโรคเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่หลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั่วโลกว่า สนพ. มีระบบเฝ้าระวังตรวจสอบข่าวการระบาดของโรคอหิวาตกโรคในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการยึดหลัก "กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ" ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด ล้างให้นานไม่น้อยกว่า 15 วินาที ก่อนรับประทานอาหาร ใช้มือหยิบอาหาร หรือหลังหยิบจับสิ่งของสิ่งสกปรก รับประทานอาหารที่ยังร้อนและปรุงสุกใหม่ ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด ใช้ช้อนกลางเสมอ ดื่มน้ำสะอาด ภาชนะที่ใช้กินและดื่มต้องสะอาด
ทั้งนี้ สนพ. ได้จัดเตรียมเวชภัณฑ์ป้องกันและรักษาโรค สำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย พร้อมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคตามฤดูกาล ได้แก่ โควิด 19 โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส ให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ที่มีโรคประจำตัว พร้อมให้ความรู้ ข้อแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ รวมถึงสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องเพื่อป้องกันโรคเบื้องต้น รวมทั้งยังได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาด พร้อมแนะนำให้ประชาชนมีความระมัดระวังดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอกับ 7 วิธีดูแลสุขภาพ ดังนี้ รับประทานอาหารที่ปรุง สุก ใหม่ ดื่มน้ำอุ่น หรือดื่มน้ำสมุนไพรเผ็ดร้อนเพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต รับประทานผักผลไม้และสมุนไพรรสเปรี้ยวบรรเทาอาการไอทำให้ชุ่มคอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ไม่ควรดื่มสุราแก้หนาวเพราะอาจทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตได้ ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ สวมเสื้อผ้าหนา ๆ หรือห่มผ้าช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย สำหรับผู้ป่วยควรพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ควรเข้าไปที่ชุมชน แต่หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอหรือจาม โดยประชาชนสามารถพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine โหลดแอปพลิเคชัน "หมอ กทม." สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ โทร. 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้เน้นย้ำแนวทางปฏิบัติให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ให้ความรู้ว่า อหิวาตกโรคเป็นโรคอุจจาระร่วงอย่างรุนแรง เชื้อก่อโรคเป็นเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholerae ในทางเดินอาหารแบบเฉียบพลัน มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำปริมาณมากและบ่อย มีลักษณะเหมือนน้ำซาวข้าว อาจมีกลิ่นเหม็นคาว ผู้ป่วยอาจอุจจาระไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว คลื่นไส้อาเจียนอยู่หลายชั่วโมง แต่ไม่มีไข้และไม่มีอาการปวดท้อง รู้สึกกระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย หากอาการรุนแรง มักจะมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ น้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะเลือดเป็นกรด ริมฝีปากแห้ง เป็นตะคริว ตัวเย็น และช็อก และอาจจะเสียชีวิตได้ โรคนี้มียารักษา การติดต่อนั้นเป็นทางการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย
อย่างไรก็ตาม สนอ. ได้ประชาสัมพันธ์ความรู้ผ่านสื่อทุกช่องทาง โดยเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ให้ความรู้คำแนะนำด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชน ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ตลาดร้านอาหารข้างทาง ร้านที่ทำอาหารขายทั่วไป ห้องสุขา ตามหลักสุขาภิบาล ดูแลน้ำที่ใช้ทำกับข้าว ล้างจาน ให้แน่ใจว่าใช้น้ำสะอาด แยกเก็บภาชนะให้ห่างจากห้องน้ำ โดยกำชับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคอย่างเคร่งครัด เตรียมให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบระบบประปาปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาตามมาตรฐานกรมอนามัย