ศูนย์ทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สถาบันพัฒนามาตรฐานและตรวจสอบรับรอง กรมวิทยาศาสตร์บริการ จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (proficiency testing, PT) โดยดำเนินการจัดส่งตัวอย่างอาหารสัตว์ ให้แก่ห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 47 ห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบผลการวัด รายการ Water - soluble chlorides (as NaCl) in feeding stuffs และส่งผลกลับมายังศูนย์ทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ภายในวันที่ 23 มกราคม 2568 เพื่อประเมินผลทางสถิติด้วยวิธีการเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการ อาหารสัตว์ (Feed) หมายถึง สิ่งที่สัตว์กินเข้าไปแล้วไม่เกิดพิษต่อร่างกาย เมื่อร่างกายของสัตว์ได้รับอาหารอย่างเพียงพอกับความต้องการ สัตว์จะสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ ซึ่งการบริโภคอาหารของสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์เศรษฐกิจ ผู้เลี้ยงและผู้ผลิตอาหารสัตว์ ควรตระหนักถึงคุณค่าทางโภชนะของอาหารสัตว์
ทั้งนี้ สารอาหารหรือโภชนะที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในวัตถุดิบอาหารสัตว์มี 6 ประเภท คือ น้ำ คาร์โบไฮเดรต โปนตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ ซึ่งแร่ธาตุเป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญ มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต การเจริญเติบโตของสัตว์ เนื่องจากช่วยปฏิกิริยาต่างๆในร่างกาย เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ ฮอร์โมน และเป็นองค์ประกอบของของเหลวในร่างกายและเนื้อเยื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความสมดุลของกรดและด่าง ได้แก่ เกลือ (โซเดียม โพแทสเซียมและคลอไรด์) ส่วนใหญ่สัตว์ได้รับอาหารที่มีการเสริมเกลือ ทำให้สัตว์ได้ทั้งโซเดียมและคลอไรด์ไปพร้อมๆ กัน โดยอาศัยการดูดซึมที่ลำไส้ ส่วนที่เกินความต้องการจะถูกขับออกทางปัสสาวะ หน้าที่ของโซเดียมและคลอไรด์คือ การควบคุมความดัน และความเข้มข้นของเหลวภายนอกเซลล์ (Extracellular fluid) และรักษาสมดุลความเป็นกรดด่างภายในตัวสัตว์ โดยทั่วไปการหาปริมาณของคลอไรด์ที่ละลายน้ำในตัวอย่างอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์ จะวิเคราะห์หาปริมาณในรูปของโซเดียมคลอไรด์ (NaCl)
ทั้งนี้ กรมวิทย์ฯ บริการ ส่งเสริมและพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพด้านอาหารและอาหารสัตว์ โดยจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาอาหาร รายการ Water - soluble chlorides (as NaCl) in feeding stuffs การเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อเป็นการประกันคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 ของการวิเคราะห์ทดสอบคุณค่าทางโภชนะในอาหารสัตว์ของห้องปฏิบัติการทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องมีความมั่นใจในผลการตรวจวิเคราะห์ว่ามีการควบคุมคุณภาพและรักษาคุณภาพของวัตถุดิบ/ผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามเกณฑ์หรือมาตรฐานกำหนด อันเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตประชาชนระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน ต่อไป