คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า การใช้ชีวิตประจำวันของเราในแต่ละวันนั้นส่งผลต่อโลกอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การปล่อยก๊าซเรือนกระจก" หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงด้วยซ้ำว่าชีวิตที่แสนปกติธรรมดาของเรา ๆ จะส่งกระทบต่อโลกในทางตรงอย่างลึกซึ้ง และอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในฐานะผู้บริโภคตัวเล็ก ๆ หนึ่งหน่วยอย่างเรา ต่างก็มีส่วนร่วมในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการใช้ชีวิตปกติในทุก ๆ วัน จากสองมือของเรานี่เอง!
ยุคนี้จึงเป็นยุคที่ประชาคมโลกพยายามขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริงในทุกมุมโลก อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสังคมคาร์บอนต่ำจะเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่ไม่น้อยในเชิงปฏิบัติ เพราะมันจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเดิม ๆ ของคนทุกคน ซึ่งก็มีคนที่เข้าใจและยินดีที่จะเปลี่ยน ในทางตรงกันข้าม คนที่เห็นว่ามันเป็นเรื่องยุ่งยากและเป็นภาระหนักอึ้งก็คงจะมีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ด้วยอาจมองว่าเราก็เป็นเพียงแค่หน่วยเล็ก ๆ ในสังคมเท่านั้น ทำไปก็เท่านั้น คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ คืออาจไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง
แต่จริง ๆ แล้ว เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปกป้องโลกได้ แม้ว่าจะแค่ตัวเราคนเดียวและมีแค่สองมือเท่านั้น แล้วในฐานะผู้บริโภคธรรมดา ๆ คนหนึ่ง จะสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไรบ้าง
หนึ่งในวิธีที่สามารถเริ่มทำได้ง่าย ๆ คือ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์/บริการ ที่มี "ฉลากคาร์บอน" กำกับ โดยฉลากคาร์บอนจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เกิดจากการผลิต การใช้ และการกำจัดผลิตภัณฑ์/บริการ ให้ผู้บริโภคนำไปเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์/บริการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างกัน ที่มาของฉลากคาร์บอนในประเทศไทย ธุรกิจต่าง ๆ ต้องไปขอขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยฉลากคาร์บอนที่ใช้อยู่ในประเทศไทยเวลานี้ ประกอบด้วย
- ฉลาก Net Zero - หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ฉลากบนผลิตภัณฑ์/บริการที่มีสภาวะการเกิดสมดุลระหว่างการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก โดยการดำเนินกิจกรรมการลด และดูดกลับก๊าซเรือนกระจกส่วนที่เหลือ
- ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร - เป็นฉลากที่แสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กร อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหาร จัดการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับโรงงาน ระดับอุตสาหกรรม และระดับประเทศ
- ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ - เป็นฉลากที่แสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไร ตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจชื้อของผู้บริโภค และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
- ฉลากลดคาร์บอนฟุตพรินต์ - หรือฉลากลดโลกร้อน เป็นฉลากที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งเป็นการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง กระบวนการผลิต การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้
- ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียน
- ฉลากกิจกรรมชดเชยคาร์บอน - ฉลากที่รับรองการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กรหรือผลิตภัณฑ์นับได้เป็นศูนย์
- ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์แพลตฟอร์ม
- ฉลากคูลโหมด - เป็นฉลากที่มอบให้กับเสื้อผ้า หรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี ทำให้สวมใส่สบาย ไม่ร้อนอบอ้าว รองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ อันจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการปล่อยสาร CFCs ที่ทำลายชั้นโอโซน
ปัจจุบันมีสินค้าฉลากคาร์บอนทั้งหมด 7,850 รายการ แบ่งเป็น ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ 6,058 รายการ ฉลากลดคาร์บอนฟุตพรินต์ 665 รายการ ฉลากคูลโหมด 30 รายการ และฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร 710 รายการ ซึ่ง บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรเช่นกัน อันแสดงให้เห็นถึงความตระหนักรู้ถึงปัญหาและมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี นอกจากความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ฉลากคาร์บอนยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกด้วย เนื่องจากขณะนี้ในหลายประเทศเริ่มมีการนำคาร์บอนฟุตพรินต์มาใช้กันแล้ว ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น และมีการเรียกร้องให้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยต้องติดเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินต์ด้วย ดังนั้น หากประเทศไทยมีการดำเนินโครงการและเก็บข้อมูลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน ก็จะช่วยให้เรามีอำนาจในการต่อรองมากขึ้นในการประชุมระดับโลก เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน
การลดการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ในชีวิตประจำวันลงได้เป็นอย่างมากในภาพรวม ซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะการลดใช้พลังงานไฟฟ้า เช่น เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดพลังงาน เลือกใช้ไฟหลอด LED การปิดและถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดที่ไม่ใช้งาน การตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม และการหมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เป็นต้น
และที่เห็นภาพได้อย่างชัดเจน คือ การเดินทาง ที่แม้ว่าปัจจุบัน บนท้องถนนจะมีรถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ทว่ารถยนต์สันดาปก็ยังเป็นยานพาหนะหลักบนท้องถนน การหมั่นดูแลเครื่องยนต์ของรถยนต์สันดาป จะช่วยให้รถยนต์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องที่สามารถช่วยดูแลรักษาเครื่องยนต์เป็นอย่างดี เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องยนต์ เช่น ผลิตภัณฑ์ IDEMITSU IFG, IFD และ IRG ซีรีส์ ที่เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการลดการใช้พลังงานและสนุบสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ
เพราะผลิตภัณฑ์ IDEMITSU IFG, IFD และ IRG ซีรีส์ เป็น ผลิตภัณฑ์ที่ชูนวัตกรรมการขับเคลื่อนสังคมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน อีกทั้ง เทคโนโลยีน้ำมันนาโนเทเลอร์ใน IDEMITSU IFG/IRG ซีรีส์ ก็มีการนำวัสดุนาโนมาเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงคุณสมบัติของน้ำมันเครื่อง ช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์ ลดของเสีย เพิ่มศักยภาพในการปกป้องเครื่องยนต์ เพิ่มประสิทธิภาพให้เครื่องยนต์และการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง จึงช่วยให้ประหยัดพลังงาน ประหยัดทรัพยากร และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้
เป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างนิสัยใหม่ให้กับตัวเอง และเริ่มลงมือทำได้ในฐานะของผู้บริโภคคนหนึ่ง ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า บริโภคเท่าที่จำเป็น และใช้ซ้ำในสิ่งที่ใช้ซ้ำได้ เนื่องจากการบริโภคเกินความจำเป็น มีผลต่อการทำลายทรัพยากรและการสร้างขยะในทางตรง ซึ่งเราสามารถมีส่วนช่วยในการลดการสร้างขยะและลดการทำลายทรัพยากรลงได้แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม
วิธีง่าย ๆ สำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการใช้ทรัพยากร เริ่มได้ตั้งแต่การวางแผนก่อนซื้อ ทำรายการซื้อของโดยลิสต์เฉพาะของที่จำเป็น และตั้งงบประมาณที่จำกัดเพื่อควบคุมการซื้อของ การลดขยะโดยการลดพฤติกรรมซื้อเสื้อผ้าตามเทรนด์ หรือเสื้อผ้าประเภท fast fashion เพราะการนำเสื้อผ้าเก่า ๆ ในตู้มาใส่ซ้ำไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องที่ต้องอาย หรือเสื้อผ้าที่ชำรุดเล็กน้อย ก็สามารถนำมาซ่อมแซมหรือ DIY เป็นดีไซน์ใหม่ได้โดยไม่ต้องยังไม่ต้องทิ้งและซื้อใหม่ การนำบรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำตามความเหมาะสม รวมถึงการแยกขยะ เพื่อให้มีการนำขยะบางประเภทไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือนำไปแปรรูปใช้ประโยชน์ด้านอื่น
นอกจากนี้ ยังรวมถึงพฤติกรรมในการกินอาหารด้วย ที่ถ้าลองปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยก็สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เช่น การบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำปศุสัตว์ เพราะตามข้อมูลของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ในปี 2565 ภาคการเกษตร มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ร้อยละ 15.69 มาจากการเพาะปลูกพืชเกษตร ร้อยละ 77.57 การทำปศุสัตว์ ร้อยละ 22.43 การเผาไหม้ชีวมวลจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ร้อยละ 2.92 และการใส่ปุ๋ยยูเรีย ร้อยละ 2.86 โดยก๊าซมีเทนที่ถูกปล่อยออกมามากที่สุดจากการทำปศุสัตว์ มีความสามารถในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25-28 เท่า ในช่วงระยะเวลา 100 ปี
เราสามารถสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการเลือกใช้สินค้า/บริการ ที่ได้จากเทคโนโลยีเหล่านั้นนั่นเอง รวมถึงการสนับสนุนองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีมาส่งเสริมการจัดการก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ การทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีธรรมดาอาจไม่ช่วยให้เห็นผลลัพธ์เท่าที่ควร และยังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ทว่าปัจจุบัน นวัตกรรมและเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ การสร้างพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด และพลังงานสีเขียว เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
ปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมจึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ตนเองศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาขึ้นจากความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม มาปรับใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายแนวทาง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว อีกทั้งยังอาจช่วยลดต้นทุนการผลิตลง เช่น เทคโนโลยีพลังงานสีเขียว และเทคโนโลยีอาหารสัตว์เพื่อหยุดภาวะโลกร้อน จาก idemitsu โดยนำสารสกัดจากเปลือกมะม่วงหิมพานต์ (CNSL) นำไปผสมกับอาหารสัตว์เพื่อลดแก๊สมีเทน ที่มักได้จากกระบวนการย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง นับเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยน์สูงสุด ลดขยะ ลดการปล่อยแก๊สมีเทนจากการทำปศุสัตว์ และบรรเทาผลกระทบจากแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
หรือผลิตภัณฑ์ IDEMITSU IFG Plantech Racing ที่ใช้เทคโนโลยี Plantech ผสานกับเทคโนโลยีน้ำมันนาโนเทเลอร์คุณภาพสูงที่ส่งต่อมาจาก IDEMITSU IFG/IRG Series จนได้เป็น "น้ำมันเครื่องที่ใช้วัตถุดิบจากพืช" ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยกระบวนการปลูกพืช จะมีการดูดกลับก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์จากบรรยากาศ มาใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการสร้างอาหารหรือกระบวนการสังเคราะห์แสง มากกว่าปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาในกระบวนการผลิตน้ำมันพื้นฐาน ทำให้ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่นี้บรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนสุทธิด้วย
ทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย หากผู้บริโภคไม่ตระหนักรู้ถึงความจำเป็นที่เราต้องเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะหากพิจารณาดูเผิน ๆ วิธีเหล่านั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก และอาจกลายเป็นภาระที่ผู้บริโภคต้องแบกรับเพิ่ม
ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน ว่าผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจก คือปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังประสบอยู่ ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหากับคาร์บอนฟุตพรินต์ เพื่อสร้างแรงจูงใจที่เข้าใจถึงความสำคัญและจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ระดับบุคคล จากนั้นค่อย ๆ สร้างการมีส่วนร่วมจากคนในบ้านเดียวกัน ชุมชนเดียวกัน สังคมเดียวกัน และเป็นภาพใหญ่ในระดับนโยบายระดับประเทศ เพื่อให้ทุกคนมีบทบาทสำคัญในการปกป้องโลก และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ยั่งยืนและส่งผลดีต่อโลกในระยะยาว
ซึ่งในปัจจุบัน มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ยอมจ่ายเพิ่มเพื่อสินค้ารักษ์โลก เช่น เทรนด์หรูรักษ์โลก (Eco-Conscious Luxury) ข้อมูลจากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการวิจัยในหัวข้อ "Upstoppable Luixumer" กล่าวถึงเทรนด์การบริโภคของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เป็นชาว Luxumer (ผู้ที่นิยมในสินค้าหรู) โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Millennials พบว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับสินค้า/บริการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้า/บริการที่มีนโยบาย Eco-Friendly เช่น ใช้วัสดุรีไซเคิล ลดการปล่อยคาร์บอน หรือมีกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน จะกลายเป็นตัวเลือกสำคัญและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อมากขึ้น แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่า แต่ถ้ามีภาพลักษณ์รักษ์โลก ก็ยินดีที่จะจ่ายเพิ่ม
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อผู้บริโภคอย่างเรา ๆ มีความตระหนักรู้กันมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่เน้นความยั่งยืนก็จะไม่ใช่ตลาดเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้ยินดีจ่ายเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากสนับสนุนความยั่งยืน ด้วยต้องการจะมีส่วนร่วมในการมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวยังคาดหวังว่าแบรนด์ต่าง ๆ จะเป็นผู้นำขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางบวกต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
การเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ตัวเราเอง นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน ที่ผู้บริโภคอย่างเราสามารถลงมือทำได้ทันทีเท่าที่ปรับและเปลี่ยนได้ เพื่อหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เพราะไม่เพียงแต่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปกป้องโลกใบนี้ แต่ยังช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืนในระดับสังคม จากสองมือของคนหนึ่งคนเป็นสองมือของคนสองคน จากสองคนเป็นสามคน สี่คน ห้าคน ค่อย ๆ สร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคมไปเรื่อย ๆ เพียงเท่านี้ เราก็จะสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงได้ด้วยมือเราเอง
บทความประชาสัมพันธ์จาก : บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด www.apollothai.com