นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนพ. ได้บูรณาการความร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล โรงเรียน ให้ความรู้และข้อแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ การแจกหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเปราะบางในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูงและแนะนำการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อปฏิบัติการออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีการรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
สำหรับการเตรียมแผนปฏิบัติการป้องกันรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการ ประกอบด้วย การเปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) การเปิดคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัด กทม. เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนและให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำประชาชนเรื่องการป้องกันดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่น สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine แอปพลิเคชัน "หมอ กทม." เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว สามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร HOTLINE 1646 สายด่วนสุขภาพ สนพ. ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้ดำเนินการตรวจประเมินเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขต สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุม ตรวจสอบสุขลักษณะและมาตรการควบคุมฝุ่น PM2.5 ในสถานประกอบกิจการ โรงงานที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 สูง สถานที่ก่อสร้าง ถมดิน ท่าทราย โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ดำเนินการตรวจประเมินกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวไปแล้ว 1,534 แห่ง และในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 สูง สนอ. ได้ตรวจกำกับดูแลสถานประกอบกิจการคอนกรีตผสมเสร็จที่มีการร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง 25 แห่ง เพื่อกวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการลดฝุ่น PM2.5 แล้ว โดยในรายที่พบข้อบกพร่องได้แนะนำให้ปรับปรุงแก้ไข ตรวจติดตาม และกวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง ได้ดำเนินมาตรการทั้งเชิงรับและเชิงรุกโดยจัดทีมออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบหรือพื้นที่ศูนย์สุขภาพชุมชน กรณีฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 37.6 - 75.0 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน ให้ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ และจัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนและเยี่ยมติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงให้การรักษาและให้คำแนะนำประชาสัมพันธ์เรื่องการป้องกันดูแลตนเองในช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 สูงกว่าปกติแก่ประชาชนผู้มารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้งนี้ จากข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่มารับบริการตรวจรักษาจากศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง ระหว่างวันที่ 8 พ.ย.66 - 31 ธ.ค. 67 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 59,811 ราย
นอกจากนี้ สนอ. ได้ส่งมอบหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ใหญ่ให้แก่สำนักงานเขต 50 เขต เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มที่มีโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจ และประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ค้าริมถนน และประชาชนทั่วไปที่ใช้ชีวิตนอกอาคาร เพื่อป้องกันและดูแลสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยได้แจกหน้ากากอนามัยไปแล้ว 69,665 ชิ้น พร้อมทั้งแจกให้กับผู้ป่วยที่ใช้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง และผู้ป่วยตอนเยี่ยมบ้านและการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ด้วย