นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเร่งด่วน ของ กทม. ในการรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สสล. ได้บูรณาการความร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสะสมตัวเพิ่มขึ้น และคุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2568 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ตลอดทั้งปีและในช่วงวิกฤตฝุ่น โดยเฉพาะมาตรการเข้มงวดตรวจสอบการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น การตรวจวัดควันดำจากยานพาหนะ การส่งเสริมการบำรุงรักษาเครื่องยนต์เพื่อลดการปล่อยมลพิษภายใต้โครงการรถคันนี้ลดฝุ่น การควบคุมการปล่อยมลพิษจากสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม สถานที่ก่อสร้างทุกประเภท และการเผาในที่โล่ง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมมาตรการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในช่วงที่ค่าฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น มาตรการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) หากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีค่ามากกว่า 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) หรือระดับสีแดง จำนวน 5 เขต
ประกอบกับการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้าอีก 2 วัน มีค่าอยู่ในระดับสีแดง 5 เขต หรือระดับสีส้ม 15 เขต และมีอัตราการระบายอากาศน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตร/วินาที (ตร.ม./วินาที) โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะประกาศห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก โดยรถประเภท EV, NGV, EURO 5 - 6 และรถที่ได้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองอากาศ พร้อมทั้งลงทะเบียนบัญชีสีเขียว (Green List) เรียบร้อยแล้วจะได้รับการยกเว้น ซึ่งมีรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป ลงทะเบียนแล้วกว่า 10,000 คัน พร้อมทั้งขอความร่วมมือเครือข่าย Work from Home ให้เจ้าหน้าที่และพนักงานปฏิบัติงานในที่พัก เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพจากการสัมผัสฝุ่น PM2.5 และลดความหนาแน่นของการจราจร
นอกจากนี้ กทม. ยังมีมาตรการดูแลป้องกันสุขภาพประชาชนในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มากกว่า 37.5 มคก./ลบ.ม. โดยประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และวิธีการป้องกันตนเองแก่ประชาชน ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ เว็บไซต์ www.airbkk.com, www.pr-bangkok.com เฟซบุ๊ก: กรุงเทพมหานคร กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร จอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ แอปพลิเคชัน AirBKK และ Line Alert ขณะเดียวกันศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พร้อมทั้งแจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบาง บริการประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่นละออง PM2.5 อย่างสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง ทั้งยังเปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลในสังกัด กทม. 8 แห่ง เพื่อให้บริการรักษาและคำแนะนำวิธีการป้องกันดูแลตนเอง รวมถึงมาตรการเชิงรุกในการจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นภายในโรงเรียนสังกัด กทม. 429 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 271 แห่ง เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน พร้อมจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสมในช่วงที่พบปริมาณค่าฝุ่นละอองสูง งดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากอนามัย สอนเสริมหรือสอนชดเชย หากจำเป็นต้องหยุดเรียน รวมทั้งกิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนและชุมชนเพื่อแจ้งเตือนนักเรียนและประชาชนเตรียมพร้อมป้องกันและดูแลสุขภาพอนามัยหากค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมป้องกันการเกิดฝุ่นละออง PM2.5 โดยแจ้งเบาะแสการเผา ในที่โล่ง หรือแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น รถควันดำ สถานประกอบการที่ก่อให้เกิดฝุ่นผ่านทางระบบ Traffy Fondue หรือโทรศัพท์แจ้งสำนักงานเขตในพื้นที่ เพื่อเข้าระงับเหตุและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป