- สองในสามของซีอีโอธุรกิจธนาคารมีความมั่นใจในแนวโน้มการเติบโตในสามปีข้างหน้าของภาคธนาคารและตลาดทุน
- ร้อยละ 81 กล่าวว่า Generative AI (Gen AI) เป็นสิ่งหนึ่งที่องค์กรของตนให้ความสำคัญในการลงทุนมากที่สุด
- การดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทางยังคงเป็นข้อกังวลหลักในการผลักดันการปฏิรูปทางธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
- ร้อยละ 81 ระบุว่าอาชญากรรมทางไซเบอร์หรือความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นปัจจัยสำคัญน่าจะส่งผลเสียต่อการเติบโตขององค์กรในช่วงสามปีข้างหน้า
- ร้อยละ 58 คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญจากการลงทุนใน ESG ในสามถึงห้าปีข้างหน้านี้
การสำรวจซีอีโอภาคธนาคารจำนวน 120 คนจากทั่วโลกชี้ว่า ซีอีโอมั่นใจในศักยภาพการเติบโตขององค์กรของตน และกำลังเดิมพันกับการลงทุนครั้งใหญ่ในเทคโนโลยีเกิดใหม่
การสำรวจ CEO Outlook ของเคพีเอ็มจีในระดับโลกซึ่งดำเนินมาเป็นปีที่สิบแสดงให้เห็นว่า ซีอีโอภาคธนาคารร้อยละ 66 มั่นใจในแนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมธนาคารและตลาดทุนในสามปีข้างหน้า ร้อยละ 81 บอกว่า Gen AI เป็นสิ่งหนึ่งที่องค์กรของตนให้ความสำคัญในการลงทุนมากที่สุด แม้ว่าจะเจอกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พวกเขามองว่าเทคโนโลยีเกิดใหม่นี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของการปฏิรูปธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางและประเด็นด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ยังคงเป็นข้อกังวลที่สำคัญสำหรับผู้บริหาร เนื่องจากอุตสาหกรรมพยายามที่จะดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิรูปธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์มหภาค ร้อยละ 81 รายงานว่าอาชญากรรมทางไซเบอร์หรือความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นปัจจัยหลักที่น่าจะส่งผลเสียต่อการเติบโตขององค์กรในสามปีข้างหน้า
ความยั่งยืนยังคงเป็นวาระสำคัญในอันดับต้น ๆ ของแผนงาน โดยซีอีโอยังคงมองว่าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและการลงทุนของธนาคาร ร้อยละ 58 ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนใน ESG อย่างมีนัยสำคัญในสามถึงห้าปีข้างหน้านี้
"เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นความเชื่อมั่นของผู้นำอุตสาหกรรมที่มีต่อแนวโน้มของภาคธนาคารทั่วโลก รวมไปถึงความเต็มใจของพวกเขาที่จะพัฒนาและนำเทคโนโลยีเกิดใหม่มาใช้ ดูเหมือนว่าซีอีโอจะมุ่งมั่นกับการเร่งโครงการปฏิรูปทางดิจิทัลที่จะมาสนับสนุนการเติบโตตามที่พวกเขาได้คาดหวังไว้ อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับภาคธุรกิจอื่น ๆ เห็นได้ชัดเจนถึงช่องว่างของทักษะที่จำเป็นต่อการบรรลุการปฏิรูปทางธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ ธนาคารต้องแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งทักษะและความสามารถใหม่ ๆ ในตลาดปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทาย ซีอีโอที่กล้าวางกลยุทธ์เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีทักษะและทำให้แผนการเป็นจริงได้จะสามารถสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว"
ฟรานซิสโก้ อูเรียหัวหน้าฝ่ายธนาคารและตลาดทุนระดับโลกเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล
"แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนในประเทศอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของภาคธนาคารไทยในระยะสั้น แต่ยังมีสิ่งที่ทำให้เราสามารถมองแนวโน้มระยะยาวในทิศทางบวกได้ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการใช้งบดุลที่แข็งแกร่งเพื่อการขยายตัวในระดับภูมิภาค อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของบริการด้านการบริหารความมั่งคั่งที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากสังคมผู้สูงอายุที่เปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าไปสู่การวางแผนการเงินในระยะยาว การปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่ม SME และผู้บริโภคที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ครอบคลุมโดยใช้โมเดลการประเมินเครดิตที่ทันสมัยพร้อมแหล่งข้อมูลทางเลือก รวมไปถึงการสนับสนุนทางการเงินสำหรับ "การเปลี่ยนผ่านสีเขียว" (green transition) อีกด้วย
ในแง่ของวาระเกี่ยวกับความเสี่ยง เรายังคงเห็นการลงทุนที่สำคัญในด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ผ่านการยกระดับแพลตฟอร์มหลักของธนาคารและขีดความสามารถด้านข้อมูล ซึ่งได้รับการยอมรับจากลูกค้าของธนาคารมากขึ้น โดยการสำรวจความเป็นเลิศด้านการมอบประสบการณ์แก่ลูกค้า (Customer Experience Excellence) ในปี 2567 ของเราพบว่ามีธนาคารถูกจัดอยู่ในลำดับต้น ๆ เป็นจำนวนมาก กลยุทธ์ AI ที่มีประสิทธิผลเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยึดแนวทางที่มุ่งเน้นให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรในอนาคตจะถูกฝึกฝนและพัฒนาไปในแนวทางที่ส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญขององค์กร โดยธนาคารอาจต้องเผชิญกับผลกระทบด้านความเสี่ยงอย่างเลี่ยงไม่ได้ และต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการปฏิรูปทางไซเบอร์ในหลาย ๆ ส่วน เช่น การจัดการการเข้าถึงข้อมูล เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารยังคงได้รับความไว้วางใจ"
คริสโตเฟอร์ ซาวน์เดอร์สหุ้นส่วน หัวหน้าฝ่ายปรึกษาธุรกิจเคพีเอ็มจี ประเทศไทย