นางสาวการดา สิงหาบุตร. เกษตรกรชาวไร่อ้อย ตำบลบ้านหนองแก อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู กล่าวถึงปัญหาของเกตกรชาวไร่อ้อยในช่วงนี้ ว่า ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกและส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแปรปรวนของอากาศ อุณหภูมิ และการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำที่แตกต่างจากแบบแผนปกติอย่างรุนแรง
ส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบการเกษตรและอาหารของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่มีรากฐานเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับการเกษตร โดยเฉพาะการผลิตพืชและสัตว์เศรษฐกิจหลักที่ยังคงพึ่งพาปริมาณน้ำฝนและแบบแผนสภาพอากาศที่แน่นอน ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น และส่วนใหญ่มีการจัดการดิน น้ำ และการผลิตแบบเดิม ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดความผันผวนของสภาพอากาศดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย หรือผลผลิตอาจจะลดลงทั้งเชิงปริมาณและ/หรือคุณภาพในระดับที่ส่งผลต่อความมั่นคงของรายได้และอาหาร ตลอดจนคุณภาพชีวิตของครอบครัวเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย โดยพบว่าภัยแล้งของภาคอีสานตอนบนนั้นส่งผลต่อผลผลิตของปริมาณอ้อย เนื่องจากทำให้อ้อยมีน้ำหนักเบา น้ำหนักไม่ได้ ส่งผลให้ราคาไม่เป็นไปตามที่ต้องการ โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อย จึงวอนขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นด้านน้ำ หรือมาตรการเยียวยาต่างๆ เพื่อลดความเดือนร้อนของเกษตรกรลง
ทั้งนี้ อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศผู้ปลูกอ้อยมากเป็นอันดับ 4-5 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศบราซิล จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานว่า โดยเฉลี่ยในแต่ละปีไทยสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายนำตาลทรายทั้งในประเทศและส่งออกได้ปีละกว่า 180,000 ล้านบาท โดยพบว่าอ้อยเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเมื่อพิจารณาในแง่ของผลผลิต เพราะอ้อยใช้ปัจจัยสำหรับการเจริญเติบโตได้ง่าย โดยอาศัยปัจจัยธรรมชาติ เช่น แสงแดด น้ำ อากาศ และธาตุอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพในการเจริญเติบโต นอกจากนี้อ้อยยังเป็นพืชที่ปลูกง่าย และ อ้อยยังชอบอยู่ในอากาศร้อนและชุ่มชื้น