ตรวจแคลเซียมหลอดเลือดหัวใจ หรือ Coronary Artery Calcium (CAC) คือการตรวจวัดปริมาณแคลเซียมที่สะสมในผนังหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หากผลการตรวจระบุคราบหินปูนสะสมในปริมาณสูง ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงแข็ง นำไปสู่ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและเสียชีวิตได้
Calcium Score เกิดจากอะไร
การเสื่อมสภาพของหลอดเลือดตามธรรมชาติในผู้ป่วยแต่ละราย ช้าเร็วต่างกันตามปัจจัยเสี่ยงที่บุคคลนั้นมี ทำให้เกิดการอักเสบซ้ำๆ ของหลอดเลือด และเกิดการสะสมของคราบหินปูนในบริเวณที่มีการเสื่อมสภาพของหลอดเลือด
Calcium Score เป็นการให้คะแนนคราบหินปูน ที่วัดโดยใช้เทคโนโลยีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดพิเศษที่เรียกว่า Multi-slice Computerized Tomography (CT) ซึ่งสแกนภาพหลายภาพของคราบหินปูนที่สะสมอยู่ที่เส้นเลือด การถ่ายภาพจะดูที่ระดับของคราบหินปูนที่สะสมอยู่ ซึ่งคราบหินปูนประกอบด้วยไขมัน คอเลสเตอรอล แคลเซียม และสารอื่นๆ ในเลือด ซึ่งจะค่อยๆ พัฒนาเกาะเพิ่มขึ้นกลายเป็นแผ่นหนาใหญ่ขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เส้นเลือดตีบลงอย่างช้าๆ โดยกระบวนการเสื่อมนี้อาจใช้เวลาหลายปี ขึ้นกับว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่เร่งให้เส้นเลือดเสื่อมมากน้อยแค่ไหน
เมื่อแคลเซียมหรือหินปูนสะสมมากขึ้นในผนังหลอดเลือด จะทำให้หลอดเลือดตีบ เลือดจะไหลผ่านจุดนั้นได้ช้าลงหรือในปริมาณน้อยลง เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดไม่พอ ก็จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด
ทำไมควรตรวจ Calcium Score
การตรวจแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ (Calcium Score) ให้ข้อมูลที่สำคัญแก่ผู้ป่วยและแพทย์ นำไปสู่การวางแผนร่วมกัน ในการรักษาและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันในอนาคต แม้คนไข้ยังไม่มีอาการของโรคในปัจจุบัน ช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น
ใครบ้างที่ควรตรวจ Calcium Score
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในระดับปานกลาง ได้แก่
- ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคหัวใจ
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน
- ผู้ที่รับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำ
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
- ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน
ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนตรวจ Calcium Score
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการตรวจ หากมีโรคประจำตัว กลัวที่แคบ หรือหากมีโอกาสตั้งครรภ์
- งดยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจ หรือทำให้ชีพจรเต้นเร็ว
- งดเครื่องดื่มที่กระตุ้นการทำงานของหัวใจ เช่น ชา กาแฟ แอลกอฮอล์
- งดการสูบบุหรี่อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
- ถอดเครื่องประดับทุกชนิดก่อนเข้ารับการตรวจ
ผลการตรวจ Calcium Score แบบไหนเสี่ยงโรคหัวใจ
- Calcium Score ได้ค่า 0= ไม่มีคราบหินปูนสะสมในหลอดเลือดหัวใจ โอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันต่ำ
- Calcium Score ระหว่าง 1-100= มีคราบหินปูนสะสมในหลอดเลือดหัวใจบ้าง มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจน้อย
- Calcium Score ระหว่าง 101-400= มีคราบหินปูนสะสมในหลอดเลือดหัวใจปานกลาง มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจปานกลาง
- Calcium Score ตั้งแต่ 401 ขึ้นไป= มีคราบหินปูนสะสมในหลอดเลือดหัวใจสูง มีความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันสูงมาก ภายในเวลา 2-5 ปี
ข้อดีของการตรวจ Calcium Score
- ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล สามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังเข้ารับการตรวจ
- ไม่ต้องงดน้ำ และงดอาหารก่อนเข้ารับการตรวจ
- เป็นการตรวจที่มีความปลอดภัย ไม่ทำให้เจ็บปวด
- ไม่ต้องใส่สายสวนหัวใจ ไม่ต้องฉีดสารทึบแสง
- ไม่มีการนำเครื่องมือแพทย์ใดๆ เข้าสู่ร่างกาย
- มีความสะดวก รวดเร็ว ใช้เวลาในการตรวจเพียง 10-15 นาที
- ให้ข้อมูลที่ช่วยประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพื่อนำไปสู่การวางแผนรักษาที่เหมาะสม
ตรวจ 'Calcium Score' VS 'EST' แตกต่างกันอย่างไร
การตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยการเดินสายพาน หรือที่เรียกว่า Exercise Stress Test (EST) เป็นการตรวจหาภาวะขาดเลือดในขณะที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย โดยเส้นเลือดที่ตีบมากจะทำให้เลือดไหลผ่านได้น้อยกว่าปกติ จนทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก และคลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงในขณะที่ออกกำลังกาย โดยการตรวจ EST จะพบความผิดปกติก็ต่อเมื่อเส้นเลือดหัวใจได้ตีบมากแล้ว
แต่การตรวจ Calcium Score (CAC) สามารถตรวจพบความเสื่อมของหลอดเลือดหัวใจ ในบริเวณที่มีหินปูนไปเกาะบนผนังของเส้นเลือด โดยสามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะที่มีการตีบไม่มาก จึงช่วยในการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจในอนาคตได้ ซึ่งนำไปสู่การรักษาเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เหมาะสมต่อไป
Calcium Score กับความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจในอนาคต
ยิ่ง Calcium Score สูง ยิ่งเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจในอนาคต เมื่อแพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงในระดับปานกลางขึ้นไป ก็จะให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ในการบริหารและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือ Heart Attack ในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
ฝากถึงผู้ป่วยโรคหัวใจ และคนที่ยังไม่เป็นให้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพหัวใจ
"เรามีหัวใจดวงเดียว เป็นอวัยวะสุดท้ายที่จะหยุดทำงานก่อนที่เราจะถูกประกาศว่าเสียชีวิต จึงถือเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตของเราทุกคน จึงควรใส่ใจดูแลอวัยวะนี้ให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด เท่าที่เราและเทคโนโลยีในปัจจุบันจะสามารถเอื้ออำนวยได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเราเองและคนที่เรารัก เพราะการลดความเสี่ยงโรคที่สามารถป้องกันได้ เป็นการลงทุนกับชีวิตที่คุ้มค่ามาก เพราะการไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐที่สุดแล้ว"
บทความโดย นพ. อุฬาร วงศ์แกล้วหัวหน้าแพทย์ประจำศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลไทยนครินทร์