น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีประกาศผลรางวัลประกวดสื่อสร้างสรรค์ "GREEN GEN CHALLENGE เยาวชนสร้างสรรค์ พลังสื่อรุ่นใหม่ใจรักษ์โลก" ณ ห้องประชุมศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช กรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 ที่ผ่านมาว่า จากปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ปัญหาขยะอาหาร ที่เกิดขึ้นเกือบร้อยละ 40 จากปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน และปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistance; AMR) ที่ถูกจัดเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพใน 10 อันดับแรกของโลก โดยปัญหาดังกล่าว เป็นประเด็นสำคัญ ที่นานาประเทศ รวมทั้งประเทศไทยให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
น.ส.ปรีญาพร กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ริเริ่มโครงการประกวดสื่อสร้างสรรค์เกี่ยวกับการรณรงค์งดเผา ปลอดหมอกควัน ลด PM 2.5 การจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน และการให้ความรู้เรื่องการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ มีส่วนร่วมเชิงสร้างสรรค์สื่อที่น่าสนใจผ่านโซเชียลมีเดีย ร่วมรณรงค์สร้างการรับรู้ ป้องกัน แก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มติ๊กต็อก (TikTok) และใช้เป็นสื่อรณรงค์สร้างการรับรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น โดยการประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ อาชีวศึกษาระดับ ปวช. และประเภทนิสิต นักศึกษา หรือ อาชีวศึกษาระดับ ปวส. ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ กรมควบคุมมลพิษ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การขับเคลื่อนโครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมและเป็นแรงผลักดันให้สังคมไทยได้ใส่ใจ ดูแล ฟื้นฟู และรักษาสิ่งแวดล้อมกันเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน ซึ่งนับเป็นการสร้างความตระหนักรู้และเท่าทันในการลดปัญหามลพิษรอบตัวเรา เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืนต่อไป
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยค่าเฉลี่ยต่อ 24 ชั่วโมงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจเพิ่มขึ้น 18% และพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด อาจเพิ่มขึ้น 107% โดยสาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่งภาคป่าไม้ (ไฟป่า) การเผาในที่โล่งภาคเกษตร (ข้าว อ้อย ข้าวโพด) ภาคเมือง ภาคคมนาดมขนส่ง และมลพิษหมอกควันข้ามแดน ทำให้มีอัตราการป่วยที่เกี่ยวข้องกับการได้รับหรือสัมผัสมลพิษทางอากาศมากกว่า 12 ล้านคน จาก 4 กลุ่มโรค คือ 1. กลุ่มโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 2. กลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือด 3. กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น โรคผื่นผิวหนังอักเสบ โรคผื่นลมพิษ 4. กลุ่มโรคตาอักเสบ
"นอกจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง และยังมีปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) ที่เกิดจากการผลิตอาหารไม่ได้คุณภาพ บริโภคไม่ทันหรือไม่หมด ทำให้ต้องทิ้งจนกลายเป็นขยะอาหาร ทำให้เกิดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น น้ำเสีย มลพิษทางทัศนียภาพ รวมถึงขยะอาหารยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย รวมถึงปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistance; AMR) ที่สามารถส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องรณรงค์สร้างความตระหนักของคนในสังคม ซึ่งการประกวดสื่อสร้างสรรค์ของเยาวชนในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่คนรุ่นใหม่ ได้มีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น" ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
การประกวดจัดทำคลิป มี 3 หัวข้อ ได้แก่ 1. หมอกควัน ไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 2. ปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) และ 3. แหล่งที่มาและการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ โดยมีจำนวนผู้ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดรวม 270 ผลงาน ผลการตัดสินโดยคณะกรรมการทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยผู้ชนะในกิจกรรมนี้จะได้รับเงินรางวัลพร้อมเกียรติบัตร รวมทั้งสิ้น 18 รางวัล มูลค่า 96,000 บาท มีดังนี้
ประเภทนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ อาชีวศึกษาระดับ ปวช. หัวข้อ หมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนชัยบาดาลวิทยา จังหวัดลพบุรี หัวข้อ ปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสกลนคร หัวข้อ แหล่งที่มาและการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนเสลภูมิ
ส่วนประเภทนิสิต นักศึกษา หรือ อาชีวศึกษาระดับ ปวส. ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ หัวข้อ หมอกควัน ไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย หัวข้อ ปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หัวข้อ แหล่งที่มาและการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี