โอกาสของไทยในความท้าทาย "เด็กเกิดน้อยและสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์"

ข่าวทั่วไป Friday January 17, 2025 09:05 —ThaiPR.net

โอกาสของไทยในความท้าทาย
  • การเกิดที่น้อยลงกับอัตราเพิ่มธรรมชาติติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4

สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เผยแพร่ข้อมูลปี 2567 พบว่า ประชากรในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 65,951,210 คน มีเด็กเกิดใหม่เพียง 462,240 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 571,646 คน ส่งผลให้อัตราเพิ่มตามธรรมชาติอยู่ที่ -0.17% ติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 อัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate - TFR) ซึ่งหมายถึงจำนวนลูกเฉลี่ยที่ผู้หญิงไทยคนหนึ่งจะมีตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์ ในปี 2567 อยู่ที่ 1.0 ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทนประชากรที่ 2.1 และใกล้เคียงกับประเทศที่เผชิญสถานการณ์การเกิดที่ต่ำมาก เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ก้าวสู่ "สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์" แล้ว โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 20% ของประชากรทั้งหมด

  • TFR ที่ต่ำกับความ (ไม่) คาดหวังในการเพิ่มการเกิด

เมื่ออัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) ต่ำกว่า 1.5 ประสบการณ์จากหลายประเทศ พบว่าการกระตุ้นการเกิดนั้นเป็นไปได้ยาก อีกทั้งแนวโน้ม TFR ในเจนเนอเรชันถัดไปอาจลดลงไปอีก แม้กระนั้น รัฐบาลก็ยังจำเป็นต้องดำเนินมาตรการสนับสนุนในเรื่องนี้เพื่อชะลอการเข้าสู่สังคมสูงวัย ให้ประเทศมีเวลาในการเตรียมความพร้อมด้านสวัสดิการ ปรับสภาพแวดล้อมเพื่อการอยู่ร่วมกันของประชากรทุกช่วงวัย

  • โอกาสและทางเลือกของประเทศไทย

(1) "ผู้สูงอายุ" และ "ผู้หญิง" จะเป็นกุญแจสำคัญ - ต้องสนับสนุนบทบาทและโอกาสในการมีส่วนร่วมทางสังคมและในกำลังแรงงานให้เพิ่มขึ้น ปรับปรุงเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อเอื้อให้เป็นพลัง (contributor) ไม่ใช่ผู้พึ่งพิง (dependent)

(2) "เด็ก" คือ ทรัพยากรล้ำค่า การลงทุนในเด็กต้องเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ และสวัสดิการต่าง ๆ ลดความเครียดทางเศรษฐกิจของครอบครัว สนับสนุนสวัสดิการในสถานที่ทำงานเพื่อช่วยให้พ่อแม่มีเวลาและความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร ส่งเสริมการเกิดในเชิงคุณภาพและให้คุณค่าแก่บทบาทของพ่อแม่ในสังคม

(3) การย้ายถิ่นทดแทนหรือการนำเข้าแรงงาน (Replacement migration) หรือ การทดแทนแรงงานไทยที่จะลดลงด้วยกลุ่มประชากรข้ามชาติ โดยเฉพาะ การดึงดูดแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะ เด็กข้ามชาติที่เกิดและเติบโตในไทย เป็นอีกทางเลือกเชิงนโยบายและโอกาสที่ต้องพิจารณาเพื่อเร่งให้เกิดการกำหนดมาตรการ แนวทางและกลไกที่ชัดเจนในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติกลุ่มต่างๆ อย่างเป็นระบบ

(4) เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) อีกหนึ่งกุญแจของโอกาสเพื่อทดแทนประชากรที่ลดลงในด้านปริมาณ ด้วยคุณภาพและผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นของประชากรในทุกช่วงวัย รวมถึงเด็กเจนเนอเรชันเบต้า (เกิดปี 2568 เป็นต้นไป) ที่เกิดมาพร้อมการพัฒนาที่ก้าวกระโดดของ AI ในทุกมิติทางสังคมและวิถีชีวิต

(5) พลิกวิกฤตเกิดน้อย เป็นโอกาสต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะ SDGs ด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ "สิ่งสำคัญ คือ การปรับตัวและเตรียมรับมือในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน"

  • มุมมองของสังคมต่อสถานการณ์และทิศทางนโยบาย

ผลสำรวจจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 20 ธันวาคม 2567 ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนไทย อายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,042 คน พบว่า 71% มองว่าปัญหาเด็กเกิดน้อยเป็นวิกฤตของประเทศ แต่มีเพียง 44% เท่านั้น ที่สนับสนุนนโยบายส่งเสริมการเกิด โดยผู้หญิง (42%) เห็นด้วยน้อยกว่าผู้ชาย (52%) ทั้งนี้ 66% สนับสนุนการปรับนิยามผู้สูงอายุจาก 60 ปีเป็น 65 ปี และ 64% เห็นด้วยกับการขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปี ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยพร้อมปรับตัวรับการเป็นสังคมสูงวัย แต่การเพิ่มจำนวนเด็กเกิดตามเป้าหมายยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งผลักดันนโยบายเพื่อรับมือกับสถานการณ์สังคมสูงวัยที่อัตราจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก อันเนื่องจากสึนามิประชากรรุ่นเกิดเกิน 1 ล้านคนต่อปี (ประชากรที่เกิดในช่วงปี 2506-2526) และเตรียมพร้อมระบบสวัสดิการให้ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

หนึ่งในนโยบายสังคมด้านสุขภาพที่สำคัญ คือ "พินัยกรรมชีวิต" (e-Living Will) ซึ่งเป็นสิทธิสำคัญที่ช่วยให้บุคคล โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุสามารถแสดงเจตนารมณ์ไม่รับการรักษาที่ยืดชีวิตในภาวะไร้คุณภาพ โดยได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 การส่งเสริมความรู้เรื่องนี้ช่วยให้ผู้สูงอายุวางแผนการรักษาตามความต้องการ ลดความขัดแย้งในครอบครัว และรักษาศักดิ์ศรีชีวิตในช่วงท้ายได้อย่างสง่างาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ