นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขของสถานพยาบาลในสังกัด กทม. เพื่อเฝ้าระวังติดตามผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ ในช่วงฤดูหนาวว่า สนพ. ได้เตรียมมาตรการเฝ้าระวัง พร้อมจัดทำแนวทางการดำเนินงานควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในฤดูหนาว โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศหนาวเฉียบพลัน รวมถึงภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดเฝ้าระวัง และควบคุมการแพร่ระบาด ดำเนินการวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค จัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้โรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 13 แห่ง ให้บริการเชิงรุก โดยให้ความรู้แก่ประชาชน เช่น การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับโรคในฤดูหนาวแก่ประชาชนที่มารับบริการและประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลให้ตระหนักถึงการดูแลและป้องกันสุขภาพของตนเอง และการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันโรคเบื้องต้น รวมทั้งประเมินสถานการณ์และแนะนำประชาชนให้มีความระมัดระวังการเจ็บป่วยจาก 4 กลุ่มโรคในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ โรคติดต่อที่สำคัญในช่วงฤดูหนาว เช่น โรคหัด และโรคมือ เท้า ปาก และภัยสุขภาพ หรือการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากอากาศหนาวโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยประชาชนควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอกับ 7 วิธีดูแลสุขภาพ เมื่ออากาศหนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ รับประทานอาหารที่ปรุง สุก ใหม่ ดื่มน้ำอุ่น หรือดื่มน้ำสมุนไพรเผ็ดร้อน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต รับประทานผัก ผลไม้ และสมุนไพรรสเปรี้ยวบรรเทาอาการไอทำให้ชุ่มคอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ไม่ควรดื่มสุราแก้หนาว เพราะอาจทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตได้ ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ และสวมเสื้อผ้าหนา หรือห่มผ้าเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย สำหรับผู้ป่วยควรพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ควรเข้าไปที่ชุมชน หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม ทั้งนี้ ประชาชนสามารถพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine โหลดแอปพลิเคชัน "หมอ กทม." สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ. กทม. โทร. 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก โรคโควิด 19 และโรคไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของสถานพยาบาลในสังกัด เช่น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข วัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ แผนปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็วและทั่วถึงในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนจัดเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อสอบสวนและควบคุมโรคกรณีเกิดการระบาดของโรค
นอกจากนี้ สำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุขได้ประสานความร่วมมือส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด กทม. ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง สำนักงานเขต สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมความรู้สร้างความตระหนักให้ประชาชนได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคและมาตรการสุขลักษณะส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการการแพร่ระบาดของโรคให้กับบุคลากรของสถานศึกษา สื่อสารความเสี่ยงแก่ประชาชนในการดูแลสุขอนามัย และแนวทางการป้องกันโรค จาก 4 กลุ่มโรคในช่วงฤดูหนาว ประกอบด้วย โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดนก โรคโควิด 19 และโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ เฝ้าสังเกตอาการตนเอง 7 วัน หลีกเลี่ยงสัมผัสกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก ครั่นเนื้อครั่นตัว ให้ตรวจด้วยชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 (Antigen Test Kit: ATK) หากตรวจแล้ว ผลเป็นบวกให้เข้ารับการรักษาตามสิทธิการรักษาพยาบาลของตนเอง
ส่วนโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ เช่น โรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ โรคโนโรไวรัส โรคอหิวาตกโรค ได้เน้นย้ำคำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ ร้านอาหาร สถานประกอบการผลิตอาหารให้เลือกใช้วัตถุดิบปรุงประกอบอาหารที่สะอาดปลอดภัย ทำความสะอาดอุปกรณ์ สถานที่ปรุงประกอบอาหารให้สะอาด หมั่นทำความสะอาดห้องสุขาและจุดสัมผัสร่วมอย่างสม่ำเสมอ และดูแลสุขอนามัยของผู้สัมผัสอาหารอย่างเข้มงวด พร้อมให้คำแนะนำสำหรับโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ศาสนสถาน โดยควบคุมคลอรีนในน้ำให้ได้มาตรฐาน เพื่อฆ่าเชื้อโรค ดูแลความสะอาดห้องสุขาและจุดสัมผัสร่วมอย่างสม่ำเสมอ การปรุงประกอบอาหารต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสุขาภิบาลอย่างเคร่งครัด ส่วนประชาชนควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ไม่ควรรับประทานอาหารดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมงต้องนำมาอุ่นร้อนให้ถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง เลือกบริโภคน้ำดื่มน้ำและน้ำแข็งที่สะอาดมีเครื่องหมายสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ในสะอาด ทำความสะอาดมือ ก่อน-หลังรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องสุขาทุกครั้ง และควรใช้ช้อนกลางตักอาหาร
ขณะนี้โรคติดต่อที่สำคัญในช่วงฤดูหนาว เช่น โรคหัด และโรคมือ เท้า ปาก ได้รณรงค์เน้นย้ำกระตุ้นเตือนและสร้างความตระหนักให้ประชาชนได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคและมาตรการสุขลักษณะส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ในช่วงที่มีการระบาด หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ทำความสะอาดของเล่นต่าง ๆ สิ่งของ เครื่องใช้ และหากป่วยควรหยุดพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ สำหรับภัยสุขภาพ หรือการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากอากาศหนาวโดยไม่ทราบสาเหตุ ได้รณรงค์เน้นย้ำกระตุ้นเตือนและสร้างความตระหนักให้ประชาชนได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคและภัยสุขภาพอย่างเคร่งครัด