ด้วยระยะทางที่ห่างไกลถึง 205 กิโลเมตร จากตัวเมืองกาญจนบุรี ถึงต.ซะแล อ.ทองผาภูมิ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านเหมืองสองท่อ โรงเรียนขยายโอกาส อยู่บนภูเขาสูง พื้นที่รอยต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร การเดินทางยากลำบากบนเส้นทางคดเคี้ยว ดังนั้น การสร้างแหล่งอาหารในโรงเรียน จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง และช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คุณครูและนักเรียนได้เป็นอย่างมาก สามารถช่วยแก้ปัญหาการจัดซื้ออาหารสำหรับเด็กนักเรียน ที่แต่เดิมต้องซื้อมาในคราวเดียวให้เพียงพอในการทำอาหารทั้ง 5 วัน หรือหากมีการขนส่งวัตถุดิบโดยเฉพาะไข่ไก่มักพบปัญหาแตกเสียหายระหว่างทาง "โรงเรียนของเราตั้งอยู่พื้นที่สูงและห่างไกล การเดินทางต้องใช้เวลาเดินทางนาน หนทางกว่าจะถึงโรงเรียนค่อนข้างลำบาก เราเห็นตัวอย่างความสำเร็จของโรงเรียนพื้นที่สูง ที่มีโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน ก็คิดว่าถ้าโรงเรียนมีไข่ไก่ให้นักเรียนได้รับประทานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วันก็คงดี จะช่วยลดภาวะทุพโภชนาการได้บ้าง จากประโยชน์ของไข่ไก่ ช่วยบำรุงสมอง ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต ที่สำคัญนักรียนยังได้ฝึกอาชีพติดตัวด้วย" สนอง ยอดกุล ผู้อำนวยการ รร.บ้านเหมืองสองท่อ เล่าถึงที่มาของการร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ที่ทำให้เด็กๆบ้านเหมืองสองท่อ ได้เข้าถึงไข่ไก่อาหารโปรตีนคุณภาพดี หลังจากที่ได้ประสานไปกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และมีการเข้ามาสำรวจพื้นที่ จึงเห็นถึงความพร้อมของโรงเรียน ทางมูลนิธิฯ และซีพีเอฟจึงเริ่มต้นสนับสนุนงบประมาณสร้างโรงเรือน ติดตั้งอุปกรณ์การเลี้ยง ทั้งกรง ระบบน้ำ รางอาหาร มอบพันธุ์ไก่และอาหารไก่ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง 60 สัปดาห์ พร้อมปัจจัยการผลิต องค์ความรู้ เทคนิคการเลี้ยงจากผู้เชี่ยวชาญของซีพีเอฟ ที่เข้ามาช่วยสอนน้องๆ เพื่อให้การเลี้ยงไก่เป็นเรื่องง่ายและสนุกสำหรับทุกคน หลังจากเข้าเลี้ยงไก่ไข่ 150 ตัว และแม่ไก่เริ่มให้ไข่ เมื่อปี 2565 ทำให้เด็กนักเรียนทั้ง 240 คน มีไข่ไก่รับประทานอย่างเพียงพอ และด้วยที่นี่เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอนชั้นอนุบาล 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมีนักเรียนพักนอนในโรงเรียนเกือบ 80 คน ไข่ไก่ที่ได้จากโครงการฯ จึงเป็นวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารให้กับนักเรียนพักนอนด้วย
โครงการฯนี้ เป็นสิ่งใหม่สำหรับน้องๆนักเรียน ทุกคนต่างสนใจเรียนรู้วิธีเลี้ยงไก่ไข่ การจัดการผลผลิต การจำหน่ายเข้าโครงการอาหารกลางวันนักเรียน และไข่ไก่ที่เหลือจะนำไปจำหน่ายให้ผู้ปกครองและชาวชุมชน เกิดเป็นรายได้เข้าโครงการฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความยั่งยืนของโครงการ
"วันนี้ที่โรงเรียนมีโครงการเกษตรทั้งปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงไก่ไข่และไก่พื้นเมือง เลี้ยงแพะเนื้อ รวมถึงปลูกกาแฟและต่อยอดทำร้านกาแฟ Bmst Coffee Shop โดยเฉพาะโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ที่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เสริมทักษะเกษตร ตอนนี้เลี้ยงไก่ไข่รุ่นที่ 2 โดยมีเงินกองทุน 3 หมื่นกว่าบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการเลี้ยงรุ่นแรกมาเป็นมีทุนดำเนินการต่อในรุ่นนี้ และกำลังบูรณาการในแผนงานวิชาเกษตร" ผอ.สนอง กล่าว
น้องอาวิกา ตัวแทนนักเรียนที่รับผิดชอบดูแลโครงการฯ บอกว่า ในแต่ละวันเธอกับเพื่อนๆจะมาให้อาหารแม่ไก่ไข่ เก็บไข่ไก่ ทำให้ได้ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ หากโตขึ้นแล้วยังไม่ได้ทำงานที่ไหนก็สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ ทุกวันนี้ที่บ้านก็เลี้ยงไก่ ซึ่งพ่อนำความรู้จากเธอที่ได้เรียนรู้มาไปใช้เลี้ยงไก่ เกิดเป็นอาชีพเป็นรายได้ให้กับครอบครัวด้วย
"วันนี้เราได้ทานไข่ไก่สดๆ ทุกคนได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่เป็นพื้นฐานอาชีพ เรายังต่อยอดทำโครงการโรงตากมูลไก่ ใช้เป็นปุ๋ยในแปลงผักในโรงเรียน จำหน่ายให้ผู้ปกครองและเกษตรกรใกล้เคียง เป็นรายได้เสริมเพื่อดำเนินโครงการฯต่อไป ขอบคุณมูลนิธิฯและซีพีเอฟ ที่ให้โอกาสเราได้สร้างคลังอาหารในโรงเรียนและส่งต่ออาหารให้ชุมชน" น้องเอวิกา กล่าว
ตลอด 36 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ซีพีเอฟ และพันธมิตร ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่โรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร ส่งต่อโอกาสเข้าถึงแหล่งโภชนาการอาหารแก่นักเรียนใน 988 โรงเรียนทั่วประเทศ ช่วยให้นักเรียนกว่า 223,000 คน และครู 16,500 คน ได้รับประโยชน์จากโครงการทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการเรียนรู้การบริหารจัดการด้านอาชีพ การบริหารการเงิน รู้จักวิธีค้าขาย เกิดเป็นทักษะและสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันของตนเองและครอบครัว จนกระทั่งสามารถต่อยอดเป็นพื้นฐานอาชีพในอนาคต./
คลิกชมคลิป >> https://youtu.be/2ksU7u_wDQ4