สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยผลวิจัย"สารป้องกันไฟ" เป็นผลสำเร็จ สามารถป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า หรือควบคุมไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการช่วยลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ที่ต้องผจญเพลิงอีกด้วย ซึ่งส่วนประกอบของสารป้องกันไฟนี้ เป็นสารที่ใช้กันอยู่ทั่วไปและมีส่วนผสมจากของเหลือใช้ทางการเกษตร จึงย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ราคาถูกว่านำเข้าจากต่างประเทศถึง 5 เท่า
รศ. ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ไฟป่าทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและทั่วโลก สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม ไฟป่ามีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และจากฝีมือมนุษย์ โดยประเทศไทยในระยะเวลาสิบปีเกิดไฟป่าเป็นจำนวนกว่า 50,000 ครั้ง ทำให้พื้นที่ป่าเสียหายมีขนาดมากกว่า 1 ล้านไร่ หรือมีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ไฟป่าก่อให้เกิดควันและสารพิษ ทำให้คุณภาพอากาศลดลง ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด เสมหะ และการติดเชื้อในทางเดินหายใจ อัตราส่วนเฉลี่ยของมลภาวะที่ถูกปล่อยในแต่ละเหตุการณ์ไฟป่า เช่น PM2.5/PM10 ประมาณ 50-75%, CO 5-15%, CO 70-90%, NOx 5-15%, รวมถึง VOC 5-20% และมีผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศวิทยา เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของสปีชีส์ต่าง ๆ อีกด้วย
จากสถานการณ์และผลกระทบจากไฟป่าในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้เกิดความสนใจที่จะสร้างนวัตกรรมที่มาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว จึงทำได้การศึกษา ทดลองร่วมกับทีมวิจัยจนเป็นผลสำเร็จ พร้อมทั้งได้ทำการจดสิทธิบัตร โดยได้ทำการทดลอง และศึกษาสารต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการป้องกันไฟ ป้องกันไม่ให้ออกซิเจนเข้าสัมผัสกับพื้นผิววัสดุที่ติดไฟ และลดความร้อนพื้นผิวของวัสดุได้ พร้อมมีแนวคิดด้านความยั่งยืนในการนำของเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว มาเป็นส่วนประกอบของสารป้องกันไฟนี้ด้วย ซึ่งคุณสมบัติของ "สารป้องกันไฟ" เมื่อฉีดพ่นไปในพื้นที่ที่ต้องการป้องกันไฟแล้ว จะสามารถป้องกันไม่ให้วัสดุติดไฟ หรือทำให้เกิดการติดไฟที่ช้าลงเป็นอย่างมาก เจ้าหน้าที่สามารถเข้าควบคุมเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งฉีดพ่นเป็นแนวป้องกันไฟได้ ทั้งนี้สารป้องกันไฟใช้กับเครื่องมือ อุปกรณ์ฉีดพ่นต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมได้เลย เช่น ถังฉีดพ่นของเจ้าหน้าที่ โดรน หรือระบบฉีดพ่น ของเครื่องบิน ตลอดจนถังฉีดพ่นยาหรือปุ๋ยทางการเกษตร
นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงให้กับทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดับไฟป่า เพราะไม่ต้องเข้าไปดับไฟใน ระยะประชิด ลดขนาดความรุนแรงของเปลวเพลิง ควบคุมไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหายของพื้นที่ป่า พื้นที่ทางการเกษตร ลดการสูญเสียสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศ ลดสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5, PM10 และลดการนำเข้าสารป้องกันไฟจากต่างประเทศ นวัตกรรมสารป้องกันไฟนี้ราคาถูกกว่านำเข้าถึงกว่า 5 เท่า ซึ่งในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้เพียง 80-100 ลิตร และพร้อมที่จะต่อยอดนำไปใช้ต่อไป รศ. ดร.ณัฐพล กล่าวในตอนท้าย
รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. กล่าวว่า สจล. มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศด้วยวิทยาการ องค์ความรู้ที่เรามีอย่างเต็มที่ โดยการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถไปขับเคลื่อน และพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างงานวิจัย และนวัตกรรมสู่สังคมโลก มีการสนับสนุนให้อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาได้ทำผลงานทางวิชาการ ทำผลงานวิจัย นวัตกรรมมาตลอด ตามเป้าหมายและก้าวไปสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมระดับโลก หรือ The World Master of Innovation รวมทั้งได้กำหนดให้แต่ละคณะได้ให้นักศึกษาเริ่มทำโปรเจคตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เพื่อหล่อหลอมให้นักศึกษาได้เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ในอนาคต