กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๑ ปทุมธานี ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารสูงประจำปี ๒๕๕๑ ในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ณ อาคารคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและระงับอัคคีภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย และซักซ้อมให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีทักษะ ความชำนาญในการ ใช้อุปกรณ์กู้ภัย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นายพรรคพล วงศ์เพ็ญ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๑ ปทุมธานี เปิดเผยว่า อัคคีภัยเป็นสาธารณภัยที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก หากสถานการณ์อัคคีภัยรุนแรงและขยายวงกว้าง จะทำให้ยากต่อการควบคุมเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดในเขตชุมชน สถานประกอบการ และอาคารสูง จะยิ่งสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลจนไม่อาจประเมินค่าได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๑ ปทุมธานี จึงได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดำเนินการฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารสูงประจำปี ๒๕๕๑ ซึ่งประกอบด้วย การฝึกซ้อมแผนภาคทฤษฏีในที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) ในวันที่ ๒๐ พ.ค. ๕๑ เวลา ๐๙.๓๐ น. และการฝึกซ้อมแผนแบบปฏิบัติการจริง (Field Training Exercise : FTX) ในวันที่ ๒๒ พ.ค. ๕๑ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ อาคารคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการ สถานศึกษา ในด้านการ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ การรายงาน การสื่อสารและการปฏิบัติ การอำนวยการและสั่งการ การบัญชาเหตุการณ์ การเข้าเผชิญเหตุการณ์ฉุกเฉินภัยพิบัติจากอัคคีภัย รวมทั้งซักซ้อมการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย การให้ ความช่วยเหลือ การปฐมพยาบาลกรณีฉุกเฉิน การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ตลอดจน เป็นการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านบุคลากร เครื่องจักรกล ยานพาหนะ อุปกรณ์กู้ภัย และทรัพยากรอื่นๆ ในการป้องกันและเข้าระงับเหตุฉุกเฉินจากอัคคีภัย ซึ่งการฝึกซ้อมแผนครั้งนี้ จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยปฏิบัติหลักและหน่วยสนับสนุนมีความพร้อมในการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่มีทักษะความชำนาญและมีความพร้อม ในการประสานการปฏิบัติการติดต่อสื่อสาร การเข้าเผชิญเหตุ และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งจะทำให้ผู้ประสบภัย ได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและปลอดภัย