คปภ. เปิดตัวคู่มือการทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) และการประกันอัคคีภัย แนะแนวทางการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยอย่างเหมาะสม

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 23, 2025 17:07 —ThaiPR.net

คปภ. เปิดตัวคู่มือการทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) และการประกันอัคคีภัย แนะแนวทางการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยอย่างเหมาะสม

นายอรรถพล พิบูลธนพัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการ สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. โดยสายตรวจสอบคนกลางประกันภัย ได้จัดทำคู่มือเผยแพร่ความรู้และแนวทางกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยเบื้องต้นสำหรับการทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) และการประกันอัคคีภัย เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลวิธีการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ให้เหมาะสม และเป็นแนวทางให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยตรวจสอบข้อมูลที่สำคัญก่อนตกลงทำสัญญาประกันภัย ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมทุกมิติของการประกันภัยทรัพย์สิน โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยอย่างเหมาะสม รวมถึงเงื่อนไขที่ควรรู้ในกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นใจในการทำประกันภัยทรัพย์สิน

สำหรับการจัดทำคู่มือเผยแพร่ความรู้และแนวทางกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยเบื้องต้นสำหรับการทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) และการประกันอัคคีภัยฉบับนี้ เน้นถึงความสำคัญของการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเสี่ยงด้านการเงินในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม หรือภัยธรรมชาติ การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง หรือที่เรียกว่าการประกันภัยต่ำกว่ามูลค่า (Under Insurance) อาจทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบค่าเสียหายในส่วนที่เกินเองในทางกลับกัน หากกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยเกินกว่ามูลค่าทรัพย์สิน (Over Insurance) จะส่งผลให้เสียค่าเบี้ยประกันภัยสูงเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับประเภทของทรัพย์สินที่สามารถเอาประกันภัยได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวสิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้านหรืออาคารที่อยู่อาศัย รวมถึงทรัพย์สินภายใน เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน รวมถึงทรัพย์สินเพิ่มเติม เช่น แผงโซลาร์เซลล์ โดยสามารถแจ้งขอความคุ้มครองเพิ่มเติมจากบริษัทประกันภัยได้ เพื่อให้เจ้าของบ้านและที่อยู่อาศัยทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว หรือคอนโดมิเนียม รวมถึงผู้ที่กำลังวางแผนทำประกันอัคคีภัยครั้งแรก หรือผู้ที่ต้องการตรวจสอบความคุ้มครองในกรมธรรม์ปัจจุบัน มั่นใจว่าทรัพย์สินของตนได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม และยังเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ทั้งมูลค่าที่เป็นของใหม่และมูลค่าที่แท้จริงหลังหักค่าเสื่อมราคาอีกด้วย

ผู้ช่วยเลขาธิการ สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย กล่าวด้วยว่า คู่มือฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอหลักการสำคัญ ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน เพื่อช่วยประชาชนในการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น หากบ้านมีขนาด 100 ตารางเมตร การเลือกคุ้มครองแบบมูลค่าที่เป็นของใหม่จะช่วยให้ได้รับความคุ้มครองครอบคลุมตามราคาสร้างบ้านใหม่ในปัจจุบัน ขณะที่การเลือกแบบมูลค่าที่แท้จริงหลังหักค่าเสื่อมราคาจะช่วยลดค่าเบี้ยประกันภัยแต่ยังคงครอบคลุมความเสียหายตามมูลค่าที่แท้จริง เพื่อความสะดวกของประชาชน สำนักงาน คปภ. ยังจัดทำโปรแกรมช่วยคำนวณออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ฟรีผ่านเว็บไซต์ https://smart.oic.or.th/EService/Menu10 ซึ่งโปรแกรมนี้จะช่วยให้ประชาชนสามารถประเมินมูลค่าทรัพย์สินในเบื้องต้น ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยได้อย่างเหมาะสม

"คู่มือเผยแพร่ความรู้และแนวทางกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยเบื้องต้นสำหรับการทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) และการประกันอัคคีภัยฉบับนี้ เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของสำนักงาน คปภ. ที่ต้องการสนับสนุนให้ประชาชนมีความมั่นคงด้านการเงิน และเพิ่มความมั่นใจในการปกป้องทรัพย์สินอันมีค่าของตนเองโดยนำระบบการประกันภัยเข้ามาบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และขอแนะนำให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลในกรมธรรม์อย่างละเอียด ทั้งในส่วนของทรัพย์สินที่ได้รับความคุ้มครอง เงื่อนไขการคุ้มครอง และข้อยกเว้นต่าง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาในการเรียกร้องสินไหมทดแทนในอนาคต หากมีการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สิน เช่น การต่อเติมบ้าน หรือการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้งานทรัพย์สิน ควรแจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบเพื่อปรับปรุงข้อมูลในกรมธรรม์ให้สอดคล้องกับมูลค่าปัจจุบัน" ผู้ช่วยเลขาธิการ สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย กล่าวในตอนท้าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ