"หมออัมพร" มอบ 8 ข้อสั่งการ EOC กรมอนามัย พร้อมเร่งขยายห้องปลอดฝุ่น วานนี้ (22 มกราคม 2568) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย มอบหมายให้ นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม รองรับภาวะฉุกเฉินกรมอนามัย (HPHEOC) กรณีสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ณ ห้องประชุมอุ่นใจ อาคาร 8 DOH Data Center กรมอนามัย และระบบ Video Conference พร้อมมอบ 8 ข้อสั่งการ เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนและเร่งเพิ่มจำนวนห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่เสี่ยง
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคกลาง อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม-สีแดง) โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือฝุ่น PM2.5 ภายใต้ 5 มาตรการ (เช็ค ใช้ เลี่ยง ลด ปิด) ให้เปิดศูนย์ปฏิบัติฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเร่งสื่อสารสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน ลงพื้นที่ดูแลกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง รวมทั้งขยายห้องปลอดฝุ่นและมุ้งสู้ฝุ่น
ทั้งนี้ กรมอนามัย ได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายในการจัดทำห้องปลอดฝุ่นให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานภาคเอกชน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากปัญหาฝุ่น PM2.5 และขยายจำนวนห้องปลอดฝุ่น โดยเน้นการจัดการคุณภาพอากาศภายในอาคาร และแนวทางการจัดทำห้องปลอดฝุ่น
จากนั้น เวลา 14.00 น. กรมอนามัย ร่วมแถลงแนวทางการดูแลสุขภาพประชาชน เน้นให้ประชาชนปฏิบัติตนตามระดับค่าสี PM2.5 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ บุคคลทั่วไป และกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยยึดหลัก 5 ข้อ คือ เช็ก เช็กค่าฝุ่นจากแอฟพลิเคชั่น Air4Thai หรือ Life Deeใช้ ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองทุกครั้ง เช่น หน้ากาก N95 เลี่ยง เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งและเฝ้าระวังสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ลด ลดกิจกรรมก่อฝุ่น เช่น การจุดธูป การปิ้งย่าง การเผา การสูบบุหรี่ การใช้รถส่วนตัว รวมถึงตรวจเช็กสภาพรถเป็นประจำ และปิด ปิดประตู-หน้าต่าง ให้มิดชิด หมั่นทำความสะอาดบ้าน ที่พัก หรือทำห้องปลอดฝุ่น
จากสถานการณ์ดังกล่าว เวลา 15.30 น. กรมอนามัย ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม รองรับภาวะฉุกเฉินกรมอนามัย (HPHEOC) เพื่อสั่งการให้ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยทั่วประเทศ เร่งปฏิบัติการตามภารกิจเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ภายใต้ 8 ข้อสั่งการ ดังนี้
1) ติดตามสถานการณ์ PM2.5 ในพื้นที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทำข้อมูลแจ้งเตือนพื้นที่ประสบภัย และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการป้องกันตนเอง
2) ศูนย์อนามัยที่ 1-12 และ สสม. พิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการ EOC เพื่อรองรับสถานการณ์และการสนับสนุนภารกิจของจังหวัดที่มีค่า PM2.5 สูง โดยพิจารณาเปิดปฏิบัติการ SAT STAG Operation Logistic และ HL ก่อน เพราะเป็นภารกิจที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน
3) ประสานทีมสื่อสารความเสี่ยงระดับกระทรวงสาธารณสุข เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกและให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ และการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5
4) ลงพื้นที่ประสานเครือข่าย ทำการขยายความครอบคลุม พร้อมสาธิตวิธีการทำ และการใช้งานห้องปลอดฝุ่น รวมทั้งมุ้งสู้ฝุ่นทั้งในสถานบริการสาธารณสุขและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และครัวเรือนของประชาชนให้สามารถทำเองที่บ้านได้
5) จัดหา เตรียมการ และสนับสนุนหน้ากากป้องกันฝุ่นสำหรับช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้เพียงพอ
6) ประสานงานร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ในการจัดการแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง ทั้งกิจการ สถานประกอบการที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง และกิจกรรมของประชาชน เช่น การเผาในที่โล่งแจ้ง การจุดธูปขนาดใหญ่ อย่างเคร่งครัด
7) ให้ทุกหน่วยงานในสังกัด กรมอนามัย เตรียมความพร้อม หากมีการประกาศ Work From Home ในช่วงที่ฝุ่นละอองอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยต้องไม่กระทบต่อภารกิจสำคัญและภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ และ
8) ให้ทุกศูนย์อนามัยรายงานผลการดำเนินงานจัดการฝุ่นละอองประจำวัน เพื่อสื่อสารไปยังประชาชนต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับประชาชนและเจ้าหน้าที่ สามารถสอบถามข้อมูลการดูแลสุขภาพและแนวทางการปฏิบัติตนป้องกันความเสี่ยงสุขภาพ ได้ที่สายด่วนกรมอนามัย 1478" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว ***