สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผุดนวัตกรรม"ระบบสเปรย์อิมัลชันน้ำมันหอมระเหยจากพืชเพื่อการลดฝุ่น PM 2.5" มีศักยภาพในการดักจับฝุ่นขนาดเล็กได้ ทั้ง PM 2.5 และ PM 10 ทดลองแล้วกับสวนสาธารณะใน กทม. ซึ่งพบว่าสามารถลดฝุ่น PM 2.5 ให้น้อยลงได้ถึง 6 เท่า เมื่อเทียบกับการสเปรย์ด้วยน้ำเปล่า
รศ. ดร.คำรณวิทย์ ทิพย์มณี รองอธิการบดี วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า มลพิษทางอากาศต่าง ๆ รวมทั้งฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5, PM 10 ได้สร้างปัญหาให้กับโลก สิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบกับสุขภาพของสิ่งมีชีวิต และมักมีสาเหตุมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ทั้งการคมนาคม การผลิตไฟฟ้า การผลิตในอุตสาหกรรม การเกษตร รวมถึงการเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น การรวมตัวของก๊าซในธรรมชาติ ซึ่งเราสามารถควบคุมปัจจัยที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศนี้ได้ เช่น การออกกฎหมายควบคุม การเฝ้าระวังและตรวจวัดค่ามลพิษเป็นประจำ พร้อมจัดทำการรายงานผล บริหารจัดการพลังงาน ขนส่ง เชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพ ออกแบบโรงงาน เครื่องจักรให้สอดคล้องและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้เครื่องมือ เครื่องกรอง การดักจับ รวมถึงการฉีดละอองน้ำเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ที่เหมาะสม
รศ. ดร.คำรณวิทย์ กล่าวต่อ จากงานวิจัยที่ตนเองและทีมวิจัยได้ศึกษามาตลอด เกี่ยวกับพืชธรรมชาติและความหลากหลาย จึงได้พบคุณสมบัติของสารบางตัวที่มีศักยภาพในการจับฝุ่นขนาดเล็กทั้ง PM 2.5 และ PM 10 ได้ดี จึงมีแนวคิดที่พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้ศึกษาเกี่ยวกับ Nano/ microemulsionessential oil (nEO) เพื่อเพิ่มคุณภาพอากาศ สามารถฆ่าเชื้อรา แบคทีเรีย มีความปลอดภัย สลายตัวได้เร็ว เป็นการเติมวิตามินให้กับอากาศ โดยทำการคัดเลือกชนิดของน้ำมันหอมระเหยจากพืช 20-30 ชนิด เช่น มะกรูด ตะไคร้ ยูคาลิปตัส ขิง คัดเลือกจากการศึกษาด้านความเป็นประจุของอิมัลชันน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด จากนั้นการเตรียมสูตรน้ำมันหอมระเหยที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ต่อด้วยเตรียมสูตรอิมัลชันของน้ำมันหอมระเหยโดยใช้สารแรงตึงผิวชนิดต่าง ๆ รวมถึงการลดขนาดอนุภาคสูตรน้ำมันหอมระเหย ในรูปของอิมัลชันน้ำมันหอมระเหย และวิเคราะห์ขนาดอนุภาค จนได้ประสิทธิภาพตามต้องการ นั่นคือ "ระบบสเปรย์อิมัลชัน น้ำมันหอมระเหยจากพืชเพื่อการลดฝุ่น PM 2.5" เป็นสูตรนาโนหรือไมโครอิมัลชั่น ทำห้เป็นอนุภาคประจุลบ สามารถไปเกาะ หรือจับฝุ่นที่มีขนาดเล็กได้ ทั้ง PM 2.5 และ PM 10 โดยทั่วไปอนุภาคฝุ่น PM ขนาดต่างๆ จะมีประจุทั้งที่เป็นลบและเป็นบวก แต่ส่วนใหญ่อนุภาคฝุ่นจะมีประจุที่เป็นบวก ด้วยอิมัลชันน้ำมันหอมระเหยจากพืชที่ได้จากทดลองครั้งนี้จะมีประจุเป็นลบ รวมถึงการมีตัวทำละลายที่มีประจุเป็นลบดังนั้นจึงมีประสิทธิภาพสูงมากในการจับกับอนุภาคฝุ่น PM2.5 หรือ PM ขนาดต่างๆ ที่ส่วนใหญ่มีประจุเป็นบวก ซึ่งถือว่าเป็นการทำความสะอาดอากาศ รวมไปถึงการเติมวิตามินในระบบอากาศได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาเรานำไปใช้จริงแล้วกับสวนสาธารณะ 3 แห่ง คือสวนสาธารณะทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา, สวนสาธารณะบางแคภิรมย์ เขตบางแค และสวนสาธารณะธนบุรีภิรมย์ เขตทุ่งครุ ซึ่งพบว่าสามารถลดฝุ่น PM 2.5 ให้น้อยลงได้ถึง 6 เท่า เมื่อเทียบกับการสเปรย์ด้วยน้ำเปล่า และสามารถลดปริมาณฝุ่นได้ต่ำกว่าค่ามาตรฐานในขณะที่น้ำเปล่าไม่สามารถลดได้ โดยมีอัตราส่วนในการใช้ คือ สูตรน้ำมันหอมระเหย 3 ลิตร ต่อน้ำ 220 ลิตร ผสมให้เข้ากันแล้วนำไปสเปรย์ในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันได้ต่อยอดการผลิตกับภาคเอกชนเพื่อผลิตและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. กล่าวว่า สจล. มีความมุ่งมั่นที่สร้างนวัตกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด และปัญหาที่สำคัญเกี่ยวกับสุขภาพของคนไทยในขณะนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องมลพิษทางอากาศ อย่างเช่น PM 2.5 / PM 10 ที่เป็นภัยต่อสิ่งมีชีวิต มีผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศวิทยา เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของสปีชีส์ต่าง ๆ อีกด้วย พร้อมตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนและก้าวไปสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมระดับโลก หรือ The World Master of Innovation สร้างนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงและเป็นประโยชน์ในอนาคต นอกจากนี้ยังเตรียมจัดงานแสดงนวัตกรรมครั้งยิ่งใหญ่ ในงาน "KMITL Innovation Expo 2025" ระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม 2568 ณ หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)
ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง https://www.facebook.com/kmitlofficial และเว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000