ยูนิเซฟชี้เด็ก 13.6 ล้านคนในประเทศไทยเผชิญความเสี่ยงจากฝุ่น PM2.5

ข่าวทั่วไป Monday January 27, 2025 15:41 —ThaiPR.net

ยูนิเซฟชี้เด็ก 13.6 ล้านคนในประเทศไทยเผชิญความเสี่ยงจากฝุ่น PM2.5

ยูนิเซฟมีความกังวลอย่างยิ่งต่อระดับค่าฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กประมาณ 13.6 ล้านคนทั่วประเทศ สถานการณ์ที่น่าห่วงนี้ต้องการการดำเนินการเร่งด่วนและจริงจังเพื่อปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของเด็ก

จากรายงาน Over the Tipping Point report ของ ยูนิเซฟ ในปี 2566 พบว่า จำนวนเด็กในประเทศไทยที่เผชิญความเสี่ยงสูงจากฝุ่น PM2.5 นั้นมีมากกว่าจำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศอื่น ๆ เช่น น้ำท่วม คลื่นความร้อน และภัยแล้ง

"เราต้องการความมุ่งมั่น ความร่วมมือ และการดำเนินการที่เด็ดขาดจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อจัดการกับสาเหตุของมลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง" นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว "นี่เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้เด็กทุกคนได้เติบโตในโลกที่ปลอดภัย สะอาด และยั่งยืน"

ในประเทศไทย ระดับฝุ่น PM2.5 ที่เป็นอันตรายในช่วงนี้ ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้ไม่ต้องเสียวันเรียนไปโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้ ยูนิเซฟกำลังจัดทำการศึกษาวิจัยโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนทั่วประเทศ โดยเน้นการปรับปรุงอาคารและห้องเรียนให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติทางสภาพอากาศ รวมถึงฝุ่น PM2.5 ได้ดียิ่งขึ้น งานวิจัยนี้ซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่ในปีนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญในการผลักดันการดำเนินการของรัฐบาลและระดมทรัพยากรเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อมลพิษทางอากาศเป็นพิเศษ โดยฝุ่น PM2.5 สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และส่งผลต่อเนื่องในระยะยาว เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดต่ำ และปัญหาการพัฒนาสมอง นอกจากนี้ เด็กยังหายใจรับอากาศมากกว่าผู้ใหญ่เมื่อเทียบปริมาณต่อน้ำหนักตัว และดูดซับมลพิษมากกว่าผู้ใหญ่ ในขณะที่ปอด ร่างกาย และสมองยังคงเจริญเติบโตไม่เต็มที่

PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งเล็กพอที่จะเข้าสู่ปอดลึกและกระแสเลือด อนุภาคเหล่านี้สามารถทำลายระบบอวัยวะหลายส่วน และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคหอบหืด ปอดอักเสบ และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังในเด็ก การสัมผัสฝุ่น PM2.5 ในระยะยาวยังเชื่อมโยงกับโรคไม่ติดต่อในผู้ใหญ่ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และมะเร็งปอด

จากรายงานสภาวะอากาศโลก (the State of Global Air) ฉบับที่ 5 ซึ่งเผยแพร่โดย Health Effects Institute และ ยูนิเซฟ ชี้ว่า ในปี 2564 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีราว 700,000 คนทั่วโลก หรือคิดเป็นวันละเกือบ 2,000 คน ต้องเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่สองของการเสียชีวิตของเด็กกลุ่มอายุนี้ทั่วโลก รองจากภาวะทุพโภชนาการ รายงานยังระบุด้วยว่าฝุ่น PM2.5 เป็นตัวบ่งชี้ที่แม่นยำและชัดเจนที่สุดในการคาดการณ์ปัญหาสุขภาพของประชากรทั่วโลกในอนาคต

เด็กกลุ่มเปราะบางที่สุดคือกลุ่มที่ต้องรับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมากที่สุด เพราะพวกเขามีทางเลือกน้อยกว่าที่จะปกป้องตัวเองจากฝุ่น PM2.5 ข้อมูลทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า เด็กในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศที่มีรายได้สูง โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าอย่างชัดเจน

ยูนิเซฟยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและภาคเอกชนเร่งแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ เพื่อลดมลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเน้นย้ำว่าการตัดสินใจที่กล้าหาญและมองการณ์ไกลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาระยะยาวแทนการใช้มาตรการระยะสั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ