กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ติดตาม 8 ข้อสั่งการ EOC มอบทุกศูนย์อนามัยเร่งศึกษามาตรการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พร้อมศึกษามาตรการปิดโรงเรียน ในกรณี ฝุ่นพุ่งสูง พร้อมส่งทีม SEhRT ลงพื้นที่สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ แจกหน้ากากอนามัย และติดตามดูแลกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ได้รับนโยบาย จากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการขับเคลื่อนกลไกระดับท้องถิ่นให้พร้อมต่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดช่วงปลายสัปดาห์และได้จัดประชุมศูนย์ปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม รองรับภาวะฉุกเฉินกรมอนามัย (HPEHOC) ครั้งที่ 2/2568 ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ EOC DOH Data Center กรมอนามัย เพื่อติดตามข้อสั่งการที่มอบหมายให้ศูนย์อนามัยที่ 1 - 12 สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้อง โดยให้ ทีม SEhRT ปฏิบัติภารกิจ ดังนี้ 1) บูรณาการทีมระดับจังหวัด ออกหน่วยให้บริการประชาชน และสร้างการรับรู้ ให้ทราบคำแนะนำ ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกันตนเอง จัดหาอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น PM2.5 จัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) ห้องปลอดฝุ่นไว้บริการประชาชนอย่างเพียงพอและเหมาะสม 2) ขยายและสาธิตวิธีการทำห้องปลอดฝุ่นให้ครอบคลุมพื้นที่ประสบภัย ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ครัวเรือน และสถานประกอบการ ร้านอาหาร พร้อมทั้งสนับสนุนมุ้งสู้ฝุ่นให้กับประชาชน และกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางในพื้นที่ 3) ประสานทีมระดับจังหวัด ร่วมตรวจประเมินมาตรฐานห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่ที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งมอบสติ๊กเกอร์ให้กับสถานประกอบการหรือสถานที่ที่มีการจัดทำห้องปลอดฝุ่น4) ประสานงาน สสจ. ท้องถิ่น ให้มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขในการจัดการแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ทั้งในกิจการ สถานประกอบการที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง และกิจกรรมของประชาชน เช่น การเผาในที่โล่งแจ้งอย่างเคร่งครัด และ 5) นำรถราชการทุกคันของหน่วยงานตรวจวัดควันดำ และตรวจเครื่องยนต์ตามมาตรฐานเพื่อลดปล่อยมลพิษ
"สำหรับกลุ่มภารกิจ STAG ให้เร่งดำเนินการดังนี้ 1) ให้คำปรึกษา หรือเสริมทักษะการใช้อำนาจทางกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขในการแก้ไขปัญหา ฝุ่น PM 2.5 สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และ2) เมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงให้พิจารณาประกาศใช้การทำงานที่บ้าน (Work from home) ทั้งนี้ให้เป็นไปตามแนวทางของผู้บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัดอย่างเคร่งครัด ส่วนกลุ่มภารกิจ HL ให้สื่อสารสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในการดูแลตนเอง ป้องกันฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งการงดหรือห้ามเผาในพื้นที่และสำรวจการเข้าถึงชุดความรู้สื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของกรมอนามัย ทั้งนี้ ขอให้ทุกกลุ่มภารกิจรายงานผลการดำเนินงานจัดการฝุ่นละอองประจำวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอในการประชุม PHEOC กระทรวงสาธารณสุข และให้ศูนย์อนามัยดำเนินการจัดตั้งศูนย์มลพิษออนไลน์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง สำหรับช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ ให้มีการประสานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมกำหนดมาตรการปกป้องเด็กจากฝุ่น PM2.5 ในโรงเรียนและสถานศึกษา พร้อมทั้งให้จัดทำข้อเสนอในการใช้ข้อมูลคาดการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อเสนอกระทรวงสาธารณสุขพิจารณากำหนดมาตรการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้ทันต่อเหตุการณ์ต่อไป" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว