มะเร็งยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย จากรายงานของ Global Cancer Observatory พบว่าในปี 2022 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากกว่า 118,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งธีมของวันมะเร็งโลกประจำปี 2568-2570 โดย UICC ภายใต้แนวคิด "United by Unique" เน้นการดูแลที่มุ่งเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางและมุ่งค้นหาวิธีใหม่ ๆ ในการสร้างผลกระทบที่มีความหมาย โดย Dr. Jeff Vacirca แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จ (SGU) ในประเทศเกรนาดา หมู่เกาะเวสต์อินดิส แชร์ความสำคัญของการตระหนักถึงความเสี่ยงของโรคมะเร็ง พร้อมแนะนำวิธีการตรวจและป้องกันโรคมะเร็งอีกด้วย
รู้ทันความเสี่ยงโรคมะเร็ง
ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) มะเร็งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก คิดเป็นประมาณ 9.7 ล้านคนต่อปี ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การขาดการออกกำลังกาย และมลพิษทางอากาศ (WHO) นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อายุ สารก่อมะเร็ง พันธุกรรม และภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ป้องกันไว้ก่อนด้วยการตรวจคัดกรองเป็นประจำ
การตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอช่วยให้สามารถเริ่มการรักษาได้เร็วขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้ การตรวจคัดกรองเบื้องต้น เช่น การตรวจเต้านม การตรวจมะเร็งปากมดลูก และการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ มีบทบาทสำคัญในการตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพิ่มโอกาสในการรักษาให้ได้ผลดีขึ้น เช่น หากตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น โอกาสรอดชีวิตในระยะ 5 ปี สูงถึง 99% แต่หากพบในระยะลุกลามแล้ว อัตรารอดชีวิตจะลดลงเหลือเพียง 27% เท่านั้น
การสังเกตอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ
อาการของโรคมะเร็งอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของมะเร็ง โดยมีสัญญาณสำคัญที่ควรเฝ้าระวังเพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที เช่น:
- อาการทางร่างกาย: การมีก้อนเนื้อหรืออาการบวมที่ไม่ทราบสาเหตุ ไอเรื้อรัง หายใจติดขัด การขับถ่ายเปลี่ยนแปลง เลือดออกผิดปกติ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการอ่อนเพลีย เจ็บปวดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือแม้กระทั่งไฝใหม่ที่เกิดขึ้น
- ปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะ: ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ปัสสาวะไม่ออก หรือปวดขณะปัสสาวะ
- อาการอื่นๆ: ความเปลี่ยนแปลงผิดปกติของเต้านม เบื่ออาหาร แผลเรื้อรัง อาการแสบร้อนกลางอก และเหงื่อออกมากผิดปกติในเวลากลางคืน
วิธีการป้องกัน
การมีวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ การรับวัคซีนที่จำเป็นอย่างสม่ำเสมอ และการลดความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมสามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้
- รักษาสุขภาพที่ดี: หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- ฉีดวัคซีนที่จำเป็น: ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง
- ลดความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อม: หลีกเลี่ยงรังสียูวี ใช้มาตรการป้องกันแสงแดด และลดการเผชิญกับมลพิษทางอากาศทั้งในที่ร่มและกลางแจ้ง
Dr. Vacirca ประธานกรรมการและประธานบริหาร New York Cancer & Blood Specialists รวมถึงเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง OneOncology กล่าวว่า "ในวันมะเร็งโลก พวกเราถูกเตือนเสมอถึงผลกระทบร้ายแรงของโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลก การหันมาดูแลสุขภาพ ฉีดวัคซีนที่จำเป็น และตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะช่วยลดภาระของโรคนี้ได้เป็นอย่างดี รวมถึงสร้างสุขภาพที่ดีขึ้นให้คนไทยทุกคนในอนาคต"
การให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการตรวจได้ทันและมีผลต่อชีวิต SGU ขอเชิญชวนบุคลากรและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยร่วมเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคมะเร็ง ส่งเสริมการตรวจคัดกรองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน