กรมอนามัย หนุนเด็กไทยกระโดดโลดเต้นเล่น 60 นาที เพิ่มกิจกรรมทางกาย เพิ่มสูงดี สมส่วน แข็งแรง หลังค่าฝุ่นลดลง

ข่าวทั่วไป Tuesday February 4, 2025 15:42 —ThaiPR.net

กรมอนามัย หนุนเด็กไทยกระโดดโลดเต้นเล่น 60 นาที เพิ่มกิจกรรมทางกาย เพิ่มสูงดี สมส่วน แข็งแรง หลังค่าฝุ่นลดลง

วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2568) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย มอบหมายให้ แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธาน ในพิธีเปิดงานมหกรรม "กระโดดโลดเต้นเล่น 60 นาที" เพื่อเด็กไทยสูงดี สมส่วน แข็งแรง พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กรุงเทพมหานคร กรมพลศึกษา กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) ณ โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี

แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพประชาชน ลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการมีสุขภาพดีทุกมิติ ผ่านการผลักดันแนวคิด เวชศาสตร์วิถีชีวิต เพื่อการปรับพฤติกรรม ครอบคลุม 6 ด้าน ซึ่งการออกกำลังกายที่เพียงพอเป็นหนึ่งในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงขอเชิญชวนประชาชนออกกำลังกาย เป็นประจำทุกวัน เพื่อการสร้างสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่นที่ต้องได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ

ที่ผ่านมา กลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ เพียงร้อยละ 16.1 แม้ในปี 2566 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 21.4 แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดให้เด็กกลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีกิจกรรมทางกายเพียงพอที่ร้อยละ 40 อีกทั้งเด็กมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยสูงกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน และมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ลดน้อยลง การกระโดดโลดเต้นเป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง กระตุ้นให้เกิดการสร้างกระดูกและทำให้สูงเพิ่มขึ้นร่วมกับการนอนหลับให้เพียงพอ ซึ่งเด็กอายุ 6 - 12 ปี ควรนอนหลับวันละ 9 - 12 ชั่วโมง เด็กอายุ 13 - 18 ปี ควรนอนหลับวันละ 8 - 10 ชั่วโมง และเข้านอนก่อน 3 ทุ่ม อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน การเจริญเติบโต (Growth Hormone) ในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการส่งเสริมการเจริญเติบโต หรือที่เรียกว่า ช่วงทองของการเติบโต (Golden Stage) ควรเน้น การดูแลเป็นพิเศษ โดยสำหรับเด็กผู้หญิง คือช่วงอายุ 10 - 12 ปี และสำหรับเด็กผู้ชาย คือช่วงอายุ 12 - 14 ปี

แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอนามัย ให้ความสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายวัยเรียนวัยรุ่นให้มีกิจกรรมทางกาย ระดับปานกลางถึงหนัก อย่างน้อย 60 นาที ทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) หลากหลายรูปแบบ เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก ว่ายน้ำ บาสเกตบอล และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ โหนบาร์ เป็นต้น โดยแนะแนวทาง 10 - 20 - 30 สำหรับสถานศึกษาในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย คือ จัดกิจกรรมออกกำลังกายหน้าเสาธงทุกวัน 10 นาที สนับสนุนเด็กวัยเรียนวัยรุ่น มีกิจกรรมกระโดด เช่น กระโดดเชือก กระโดดตบ 20 นาที และส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นออกกำลังกาย ตามความชื่นชอบ 30 นาที ควบคู่กับกิจกรรมพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์และกิจกรรมเพิ่มความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อและข้อต่อทุกวัน ซึ่งการออกกำลังกายช่วยให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ส่งผลให้เซลล์สมองแข็งแรงมากขึ้น ทำให้การเรียนรู้และความจำดีขึ้น มีสมาธิ มีความกระตือรือร้น ในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จิตใจแจ่มใส

อีกทั้งยังช่วยเสริมความสร้างหนาแน่นของมวลกระดูก กระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาระบบกระดูก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความสูง โดยกรมอนามัยแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ อย่างหลากหลาย ดื่มนมจืด 2 แก้ว ทุกวัน ควบคู่กับการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะทำให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สูงดี สมส่วน เจริญเติบโตเต็มศักยภาพ ลดปัจจัยในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ตามแนวคิดทางเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะ องค์รวม

"การกระตุ้นให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีการออกกำลังกายและกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน สนับสนุน และสื่อสารสร้างความรอบรู้ให้นักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาทั่วประเทศ ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการออกกำลังกาย สามารถมีกิจกรรมทางกายตามความถนัดหรือความสนใจ และมีพื้นที่สำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เพียงพอระหว่างวัน เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างต่อเนื่องจนมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง สามารถบอกต่อแนวทางปฏิบัติให้แก่ เพื่อน ครอบครัว ชุมชนมีสุขภาวะที่ดีไปพร้อมกัน"

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึง "สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ขอให้ประชาชนที่นิยมออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงที่มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน และขอให้ยึดหลัก "1 เช็ก 3 เปลี่ยน และ 1 ประเมิน" ได้แก่ "1 เช็ก" เช็กค่าฝุ่นก่อนออกกำลังกาย หากค่าฝุ่นสูงกว่า 37.5 มคก./ลบ.ม (สีส้ม) ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพควรหลีกเลี่ยง ส่วนประชาชนทั่วไปให้เลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งช่วงเช้า บริเวณริมถนน หรือบริเวณที่มีการก่อสร้าง หากสูงกว่า 75 มคก./ลบ.ม (สีแดง) ให้ออกกำลังกายในอาคารแทน "3 เปลี่ยน" คือ เปลี่ยนเวลา มาออกกำลังกายในช่วงบ่ายหรือเย็นแทน เปลี่ยนสถานที่จากกลางแจ้งเป็นในร่ม และเปลี่ยนรูปแบบจากการ ออกกำลังกายหนัก เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน มาเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ แทน และ "1 ประเมิน" ประเมินตนเองก่อนและระหว่างออกกำลังกายทุกครั้ง หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ให้งดหรือหยุดออกกำลังกายทันที ทั้งนี้ การออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงมีฝุ่น PM 2.5 จำเป็นต้องคำนึงถึงสุขภาพและคุณภาพอากาศเป็นหลัก ขอให้ใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงการออกกำลังกายที่ปลอดภัยและเหมาะสม ทั้งนี้ขอให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อประกอบการวางแผนกิจกรรมในชีวิตประจำวัน" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ