สสส.และอนุบาลเทศบาลตลาดใหญ่ จ.เชียงใหม่ ชวนสร้างนิเวศสื่อสุขภาวะ เริ่มต้นที่บ้าน

ข่าวทั่วไป Wednesday February 5, 2025 15:20 —ThaiPR.net

สสส.และอนุบาลเทศบาลตลาดใหญ่ จ.เชียงใหม่ ชวนสร้างนิเวศสื่อสุขภาวะ เริ่มต้นที่บ้าน

บทบาทของครอบครัวในการพัฒนาเด็กเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลตลาดใหญ่ จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความหลากหลายทั้งด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชน ครอบครัวจึงสามารถเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาทักษะชีวิตให้แก่เด็กในวัยเรียน ชวนมาจินตนาการถึงบ้านที่ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจสำหรับเด็ก และครอบครัวสามดี ในตำบลตลาดใหญ่ มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่เล็กๆ ในบ้าน พร้อมเพิ่มกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ก็สามารถเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็น "โรงเรียนแห่งแรก" สำหรับเด็กได้จริง

โรงเรียนเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้นำ แนวคิดนิเวศสื่อสุขภาวะ มาปรับใช้ในชุมชน เพื่อส่งเสริมให้บ้านเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ โดยเน้นความร่วมมือระหว่างครู ผู้ปกครอง และเด็ก ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ โครงการเยี่ยมบ้านเด็กปฐมวัย ซึ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจและให้คำแนะนำแก่ครอบครัวในการเปลี่ยนบ้านให้เป็นพื้นที่สร้างสุขภาวะ เปลี่ยนบ้านให้เป็นนิเวศสื่อ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก

โครงการเยี่ยมบ้าน เชื่อมโยงครอบครัว สื่อ และการเรียนรู้ เป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการ โครงการตลาดใหญ่ 3 ดี วิถีชุมชน ที่ดำเนินงานร่วมกับ ภาคีเครือข่ายครูปฐมวัยทั่วประเทศ ภายใต้โครงมหัศจรรย์นิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อเด็กปฐมวัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้การบริหารงานโดยกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ ที่เชื่อมการพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมของเด็ก ด้วยแนวคิด "นิเวศสื่อสุขภาวะ" ซึ่งหมายถึง การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยใช้แนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) ในการจัดสภาพแวดล้อมชุมชนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชุมชนใช้สื่อและพื้นที่อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เด็กและครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน

ภายใต้แนวคิด การป้องกันผลกระทบด้านลบของสื่อหน้าจอที่คุกคามเด็กๆ การจัดระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่เหมาะสมสำหรับเด็ก จะช่วยป้องกันการเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม เช่น สื่อรุนแรงหรือสื่อที่มีเนื้อหาไม่เหมาะกับวัย การสร้างสภาพแวดล้อมของสื่อที่เน้นเนื้อหาสร้างสรรค์ช่วยลดผลกระทบด้านลบต่อจิตใจและพฤติกรรมของเด็ก โดยเฉพาะการใช้สื่อร่วมกันในครอบครัว เช่น การดูรายการที่เหมาะสมกับเด็ก หรือการทำกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาสื่อ ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว และสร้างความผูกพันที่แข็งแกร่งระหว่างเด็กและผู้ปกครอง นอกจากนี้ การที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างและใช้สื่อที่ส่งเสริมสุขภาวะจะช่วยให้เด็กเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสนับสนุน

กิจกรรมเยี่ยมบ้านของครู ไม่ได้เป็นเพียงการสำรวจความเป็นอยู่ของเด็ก แต่ยังช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้เข้าใจบทบาทของตนเองในการพัฒนาเด็กมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในปี 2567 ที่ผ่านมา ครูได้เยี่ยมบ้านเด็กอนุบาลปีที่ 1-3 จำนวน 47 ครัวเรือน พร้อมแจกเมล็ดพันธุ์ผัก และพัดระบายสีให้เด็กๆ ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว ครูได้พัฒนากิจกรรม สำหรับครอบครัว ภายใต้แนวคิด ครอบครัว 3 ดี คือครอบครัว ที่ใช้ สื่อดี พื้นที่ดี เพื่อสร้างภูมิดีให้กับเด็กๆในบ้าน โดยมีกระบวนการกิจกรรม ดังนี้

  • สร้างพื้นที่เรียนรู้ในบ้านผู้ปกครองเริ่มปรับเปลี่ยนบ้านให้เหมาะกับการเรียนรู้ เช่น จัดมุมปลูกผัก มุมอ่านนิทาน หรือมุมเล่นสร้างสรรค์
  • พัฒนาทักษะเด็กเด็กได้เรียนรู้การสังเกต การดูแลต้นไม้ตั้งแต่การหว่านเมล็ดจนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และความรับผิดชอบ
  • เสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว: กิจกรรมที่ทำร่วมกันช่วยสร้างความผูกพันและสื่อสารในครอบครัวได้มากขึ้น
  • ตัวอย่างจากครอบครัวหนึ่งในชุมชน เด็กหญิงวัย 4 ขวบได้รับเมล็ดพันธุ์ผักจากโรงเรียนและปลูกในมุมเล็กๆ ของบ้าน ทุกเช้าน้องจะรดน้ำต้นไม้กับคุณยาย และคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของต้นผัก เมื่อถึงวันเก็บเกี่ยว น้องเล่าอย่างภาคภูมิใจที่ได้กินผักที่ปลูกเอง ผู้ปกครองกล่าวว่า "กิจกรรมเล็กๆ นี้ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ความอดทน และยังทำให้เรามีเวลาร่วมกันมากขึ้น"

    ครูวิไล คุณยศยิ่ง ครูประจำชั้นอนุบาล 3 หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า "การดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในการสร้างองค์ความรู้ให้กับเด็กปฐมวัย โดยเน้นการผลิตสื่อสร้างสรรค์จากเศษวัสดุที่เหลือใช้ ส่งเสริมให้เกิดการเล่นอิสระ เราได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและเครือข่ายครูในอำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งผู้ปกครองหลายคนได้นำความรู้นี้กลับไปจัดทำมุมการเล่นให้กับเด็กที่บ้านด้วยตนเอง เด็กในชุมชนได้พัฒนาทักษะผ่านกิจกรรมเหล่านี้"

    ครูอรณิชา พูลทาจักร์ ครูประจำชั้นอนุบาล 1 กล่าวเสริมว่า "เด็กนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ มีโอกาสได้เรียนรู้ทั้งจากครูและผู้รู้ในชุมชน รวมถึงครูภูมิปัญญาท้องถิ่น การเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในชุมชนช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเสริมสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น "

    ตัวอย่างกิจกรรมที่ ส่งเสริมให้เกิดครอบครัว 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) ของโรงเรียนเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ ภายใต้ "นิเวศสื่อสุขภาวะ" จะเน้นเรื่อง การสร้างสมดุลระหว่างการใช้สื่อและการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในบ้าน เช่น งานบ้าน งานครัว งานสวน งานอาชีพ สามารถทำให้เด็กลดเวลาหน้าจอ เพิ่มทักษะชีวิต โดยมีตัวอย่างกิจกรรมที่ใช้ในโครงการ ดังนี้

  • มุมเล่นสร้างแรงบันดาลใจครอบครัวในชุมชนได้จัด "มุมเล่น" ที่สร้างสรรค์ เช่น มุมระบายสี มุมเล่านิทาน หรือมุมตัวต่อ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เด็กพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังลดการใช้โทรศัพท์มือถือ ลดการอยู่หน้าจอ เด็กจะมีโอกาสแสดงออกและคิดอย่างอิสระ
  • ปลูกผักในบ้าน: ห้องเรียนจากธรรมชาติเมล็ดพันธุ์ผักที่ครูแจกให้กับครอบครัวกลายเป็นจุดเริ่มต้นของบทเรียนชีวิต เด็กๆ ได้เรียนรู้การดูแลต้นไม้ การเฝ้าสังเกตการเติบโต และยังได้ทานผักปลอดสารพิษที่ตนเองปลูกด้วยมือของตนเอง กิจกรรมนี้ยังช่วยให้ครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้น
  • งานบ้านแสนสนุกของครอบครัว 3 ดีการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในงานบ้าน เช่น ล้างจาน รดน้ำต้นไม้ หรือช่วยทำอาหาร ช่วยให้เด็กเรียนรู้ทักษะชีวิตและสร้างความภูมิใจในตัวเอง การมีส่วนร่วมเล็กๆ นี้ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นระหว่างสมาชิกในครอบครัว
  • อุ้ยสอนหลานทำขนมแตงไทย อีกหนึ่งกิจกรรมที่สะท้อนถึงความเชื่อมโยงระหว่างครอบครัว ชุมชน และวัฒนธรรม คือ "อุ้ยสอนหลานทำขนมแตงไทย" ด้วยว่าชุมชน มีชื่อเสียงเรื่องแตงไทย จึงนำมาสืบสานต่อยอดให้เด็กๆได้เรียนรู้ โดยแม่อุ้ยในชุมชนตำบลตลาดใหญ่ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำขนมพื้นบ้านให้แก่เด็กๆ การลงมือทำด้วยตนเองช่วยให้เด็กเรียนรู้กระบวนการคิดและสร้างคุณค่าในวัฒนธรรมของตนเอง อีกทั้งยังช่วยปลูกฝังแนวคิดของการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น
  • "กิจกรรม "ครอบครัวสามดี" เกิดขึ้นเพราะ บุคคลแวดล้อมถือว่าเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุด บทบาทของครอบครัวในการพัฒนาเด็กเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง สำหรับในโครงการ ครอบครัว 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) หมายถึง ครอบครัวตัวอย่างที่ใช้กระบวนการสื่อหรือพื้นที่สร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้กับเด็กในครอบครัว และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมของครูอย่างสม่ำเสมอ ครอบครัวร่วมจัดพื้นที่สร้างสรรค์ในบ้าน เช่น มุมหนังสือ มุมเล่นอิสระ มุมการเรียนรู้ต่างๆ หรือพื้นที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย แนวคิดนิเวศสื่อสุขภาวะในครอบครัวตัวอย่างจากตำบลตลาดใหญ่แสดงให้เห็นว่า บ้านสามารถเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็ก เพียงแค่ผู้ปกครองเปิดใจและปรับเปลี่ยนพื้นที่เล็กๆ ในบ้าน เด็กก็จะได้การพัฒนาได้อย่างมีสุขภาวะดี ทั้งกาย จิต สังคมและปัญญา" นางสาวสายใจ คงทน หัวหน้าโครงการ นิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวสรุป


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ