สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เผย ผลสำรวจปัญหาสิ่งแวดล้อมไทย โลกร้อนมาเป็นอันดับ 1

ข่าวทั่วไป Thursday February 6, 2025 17:23 —ThaiPR.net

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เผย ผลสำรวจปัญหาสิ่งแวดล้อมไทย โลกร้อนมาเป็นอันดับ 1

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม ได้ทำโพลสำรวจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยให้ความสำคัญในปีที่ผ่านมา (2567) พบว่า 3 อันดับแรกที่คนไทยห่วงด้านสิ่งแวดล้อม คือ ปัญหาโลกร้อน รองมาคือปัญหาขยะมูลฝอยที่จัดการไม่ถูกต้อง ปัญหาPM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และประเด็นการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มาเป็นอันดับ 4 ขณะที่ผลสำรวจคนไทยมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุกประเด็น เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน ซึ่งหากไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ไขก็จะส่งผลต่อการจัดการทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ดร.วิจารย์ สิมายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI รวบรวมผลสำรวจที่ทางTEI จัดทำขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในประเทศไทยพบว่า อันดับ 1 (20.3 %) คนไทยให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน ที่ในปีที่2567 ถือเป็นปีแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงเกินกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม (ปีศ.ศ. 1900) กว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งหลายคนให้เหตุว่า อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ตามมา เช่น การแปรปรวนสภาพอากาศที่ทำให้เกิดอุทกภัยธรรมชาติในหลายพื้นที่ ภัยแล้งในบางพื้นที่ การสูญเสียระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ผลกระทบต่อแหล่งอาหารการเกษตรและสุขภาพของมนุษย์ และอีกหนึ่งปัญหาที่คนไทยให้ความสำคัญตามมาติดๆ ปัญหาขยะมูลฝอยจัดการไม่ถูกต้องที่มีถึง (19.1%) โดยส่วนใหญ่ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้นถึง 28- 29 ล้านตันต่อปี หากการบริหารจัดการขยะไม่ดี ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขอนามัย สุขภาพเศรษฐกิจและสังคม อีกด้วย รวมทั้งมองว่าปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานยังไม่สามารถจัดการได้อย่างถูกต้อง เพราะประชาชนทั่วไปยังไม่รู้จักการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และความสำคัญในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ดังนั้นควรมีการสร้างความตระหนักรู้ ปลูกฝัง การคัดแยกขยะตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มต้นที่สถานศึกษา และชุมชน ในขณะเดียวกัน ภาครัฐโดยเฉพาะท้องถิ่นต้องมีระบบการจัดการที่ดี และควรมีกฎหมายหรือข้อบังคับที่ใช้ชัดเจน ขณะเดียวกันควรสร้างความตระหนักรู้ถึงการคัดแยกขยะว่าจะมีประโยชน์อย่างไรกับตนเอง รวมทั้งการส่งเสริมให้เอกชนลงทุนในการจัดการขยะมูลฝอยครบวงจร

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญเป็นอันดับที่ 3 ในผลสำรวจคือ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว (PM2.5)(13.1%) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ส่วนมากจากมลพิษทางการจราจร ที่มีผู้ใช้ยานพาหะเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการปล่อยควันรถบนท้องถนน และการ เผาในพื้นที่เกษตรในบริเวณชานเมืองและจังหวัดใกล้เคียง ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาที่มีลักษณะอากาศนิ่ง และไม่เอื้ออำนวยต่อการกระจายตัวของอากาศ ซึ่งจากผลสำรวจให้เหตุผลส่วนใหญ่ว่าปัญหา PM2.5 ใน

กรุงเทพมหานครเป็นปัญหาสำคัญ เพราะไม่ได้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่กระทบต่อการดำเนินชีวิตและสุขภาพคนในเมืองระยะยาว ดังนั้นควรเร่งรัดแก้ไขที่ทำได้เพื่อลดมลพิษทางอากาศที่แหล่งกำเนิดต่างๆ

ขณะที่จากผลสำรวจพบว่า ประเด็นการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับที่ 4 (8.2%) โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มองว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากความหลากหลายทางชีวภาพเป็นดัชนีชี้วัดระบบนิเวศที่สำคัญ การสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นหากความหลากหลายทางชีวภาพลดลงก็จะแสดงถึงสมดุลล่มสลาย ที่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพส่งผลกระทบในวงกว้างกับมิติอื่นๆ เช่นความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิต และอีกหนึ่งเหตุผลที่น่าสนใจคือ การขยายพื้นที่เมือง ประกอบกับการจัดการพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมรุกล้ำพื้นที่ป่า หรือพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติส่งผลให้กระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ จนทำให้ทรัพยากรในพื้นที่ลดลงและนำมาสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นจึงควรบริหารจัดการพื้นที่ให้เหมาะสม ควบคุมพื้นที่ ที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ประมง จัดโซนการใช้ประโยชน์ ฯลฯ ให้ชัดเจน

ทั้งนี้ ผลสำรวจที่ทาง TEI ดำเนินการยังได้สำรวจเหตุการณ์และปัญหาสิ่งแวดล้อมใหญ่ๆในปี 2567 ที่คนให้ความสำคัญ พบว่า เรื่องกากแคดเมียม 15,000 ตันในโรงงานสมุทรสาคร ปัญหาฝุ่นPM2.5 ในภาคเหนือ ขยะพลาสติกและขยะพลาสติกในทะเล ที่มาเป็นอันดับ 5 (ประเด็นละ 7.4%) ถัดมาคือ สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงราย (5.3%) ปลาหมอคางดำ เอเลียนสปีชีส์รุกล้ำน้ำน่านไทย (5.7%) พะยูนตายที่จังหวัดตรัง 2.5% และกากสารเคมีและไฟไหม้โรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (1.6%)

ดร.วิจารย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ตอบแบบสอบถามได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกเรื่องเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน ดังนั้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคน ไม่ใช่เพียงคนหนึ่งคน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือหน่วยงานภาครัฐเท่านั้นเพราะหากลงมือทำโดยไม่ได้รับความร่วมมือก็ไม่สามารถจัดการและแก้ไขปัญหาได้ พร้อมมีข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐควรมีมาตรการจัดการเรื่องต่าง ๆอย่างเข้มงวดและชัดเจน ตามลำดับความสำคัญของปัญหาบนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ผลสำรวจในครั้งนี้ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ดำเนินการสำรวจผ่านทางออนไลน์ ในช่องทางโซเชียลมีเดียของสถาบันและผ่านระบบออนไลน์ต่างๆ แก่ภาคีเครือข่ายที่ดำเนินงานร่วมกันมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ