ในยุคที่การออกกำลังกายกลายเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิต หลายคนชอบการวิ่ง ปั่นจักรยาน หรือเล่นกีฬากลางแจ้ง แต่ปัญหามลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 และโอโซน (O?) ได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม การออกกำลังกายในพื้นที่ที่มีมลพิษสูง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
รศ.ดร. เอกบดินทร์ วินิจกุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology) ให้คำแนะนำพร้อมแสดงความคิดเห็นว่า ฝุ่น PM2.5 และโอโซน (O?) เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพของผู้คนในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่และพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีปัญหามากกว่าพื้นที่อื่น มลพิษทางอากาศเป็นภัยเงียบที่สร้างความท้าทายและส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงได้รับการจัดการในเชิงนโยบายร่วมกัน ตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน ภูมิภาค ประเทศ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศระดับนานาชาติก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมาก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาและยืนยันถึงผลกระทบ ต่อสุขภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก คนชรา หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว การให้ความรู้และส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากมลพิษทางอากาศจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก
งานวิจัยยืนยัน ฝุ่น PM2.5 ทำลายสุขภาพปอดและระบบร่างกายงานวิจัยล่าสุดจาก Bahri et al. (2022) ชี้ให้เห็นว่า การออกกำลังกายภายใต้ค่าฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐานส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างชัดเจน ผู้ที่ออกกำลังกายในสภาพอากาศที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงกว่า80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเป็นเวลา 14 สัปดาห์ ตรวจพบว่ามีเม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงการอักเสบของร่างกาย นอกจากนี้ ยังพบว่าความจุปอด (FVC) ไม่พัฒนาในผู้ที่ออกกำลังกายภายใต้ค่าฝุ่นที่สูง หากฝุ่นสะสมในปอดเป็นระยะเวลานาน อาจนำไปสู่โรคระบบทางเดินหายใจและมะเร็งปอดในระยะยาวได้
ค่ามาตรฐานที่ควรรู้ของฝุ่น PM2.5 และโอโซน และค่าฝุ่น PM2.5 รายชั่วโมงสำหรับการตัดสินใจออกกำลังกาย
- ค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่ต่ำกว่า 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถือว่ามีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพน้อย (ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก)
- หากค่าฝุ่น PM2.5 รายชั่วโมงสูงกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งที่หนัก และหากฝุ่น PM2.5 รายชั่วโมงสูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงควรงดการออกกำลังกายกลางแจ้ง ในขณะที่ประชาชนทั่วไปควรลดระยะเวลาการออกกำลังกายกลางแจ้งเมื่อฝุ่น PM2.5 สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- โอโซน (O?) เฉลี่ย 8 ชั่วโมงที่เกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนัก
ควรเลือกเวลาออกกำลังกายอย่างชาญฉลาดเนื่องจากสภาพอากาศและปริมาณมลพิษเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งควรเลือกเวลาในการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งให้เหมาะกับคุณภาพอากาศโดยตรวจเช็คค่าฝุ่นและมลพิษทางอากาศแบบรายชั่วโมง (real-time)
- ช่วงเช้าตรู่ (05.00-08.00 น.): แม้จะอากาศเย็นสบาย แต่ในหน้าหนาวฝุ่น PM2.5 มักจะสะสมจากปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (inversion)
- ช่วงสาย-บ่าย (09.00-15.00 น.): ก๊าซโอโซนอาจจะเพิ่มสูงในช่วงหลังเที่ยงเนื่องจากแสงแดดแรงโดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน
- ช่วงเย็น (16.00-19.00 น.): อากาศไม่ร้อน แต่ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น ที่อาจจะมีฝุ่น PM2.5 สูง
ท่ามกลางมลพิษอากาศที่คุกคามสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างไรให้ปลอดภัย
อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายเป็นกิจกรรมเพื่อสุขภาพที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ควรคำนึงถึงคุณภาพอากาศในแต่ละวัน เวลา สถานที่ และวางแผนการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ การปรับตัวและเข้าใจสถานการณ์จะช่วยให้เรามีความระมัดระวัง ลดความเสี่ยง ป้องกัน ดูแลรักษาร่างกายให้มีสุขภาพที่ดีได้ และปลอดภัยจากผลกระทบจากมลพิษทางอากาศอีกด้วย "สุขภาพดีเริ่มต้นที่ตัวเรา แต่สุขภาพที่ปลอดภัยเริ่มต้นจากการใส่ใจและรักษาสิ่งแวดล้อมรอบตัว"