
ยาวอร์ฟาริน (Warfarin) เป็นยารับประทานในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) ออกฤทธิ์ต้านวิตามินเค ใช้ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ประสิทธิภาพของการใช้ยาวอร์ฟารินขึ้นอยู่กับค่าแข็งตัวของเลือด (International Normalized Ratio: INR) และค่า Time in Therapeutic Range: TTR ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวที่ใช้วัดคุณภาพการรักษาในระยะยาว ยิ่งค่า TTR มีค่าสูง ก็ส่งผลต่อการรักษาด้วยยาวาร์ฟารินให้เกิดประสิทธิภาพและลดภาวะแทรกซ้อนทั้งอุบัติการณ์ของภาวะเลือดออกผิดปกติและอุบัติการณ์ของลิ่มเลือดอุดตันได้ ยาวอร์ฟารินมีวิธีการบริหารยาที่มีความซับซ้อน สามารถปฏิกิริยากับยาตัวอื่น ๆ อาหาร และสมุนไพรบางชนิด ดังนั้นผู้ที่ใช้ยานี้จำเป็นต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ ได้รับคำแนะนำ และติดตามจากบุคลากรทีมสุขภาพ พยาบาล และเภสัชกรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านความจำ การมองเห็น การตัดสินใจ การเข้าถึงบริการสุขภาพ และมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามากกว่าผู้ป่วยในกลุ่มอื่นๆ
รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉริยา พ่วงแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงที่มาของนวัตกรรมนี้ ความร่วมมือระหว่างคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลสกลนคร กระทรวงสาธารณสุข มาร่วมกันสร้างนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) พัฒนาแพลตฟอร์ม "การจัดการและติดตามการใช้ยาวอร์ฟารินทางไกลสำหรับผู้สูงอายุ" เพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้สูงอายุ ครอบครัว กับบุคลากรทีมสุขภาพ ในการส่งมอบบริการทุกที่ ทุกเวลา ทำให้ผู้สูงอายุที่ใช้ยาวอร์ฟารินลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา สามารถใช้ยาได้ถูกต้อง มีระบบการติดตามต่อเนื่องในคลินิกวอร์ฟารินทางไกล ผ่าน แอปพลิเคชัน "WarfarinCare" และ "เครื่องจ่ายยาวอร์ฟารินอัตโนมัติ" โดยมีพยาบาลหรือเภสัชกรเป็นผู้ประสานงานในคลินิก มีอายุรแพทย์โรคหัวใจเป็นผู้ให้คำปรึกษา และสนับสนุนให้ครอบครัวมีศักยภาพในการร่วมดูแล
การทำงานของวอร์ฟารินแอปพลิเคชัน และเครื่องจ่ายยาวอร์ฟารินอัตโนมัติ มีฟังก์ชันข้อมูลความรู้ด้านยา ค่า INR เป้าหมาย การแจ้งเตือนให้รับประทานยาตามเวลาที่ถูกต้อง ระบบการล็อคการจ่ายยา หากเลยช่วงเวลาปลอดภัยในการรับประทานยาแต่ละวัน สามารถรายงานลักษณะอาการที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หรือเลือดออกในอวัยวะสำคัญของร่างกายได้ตลอดเวลา ผ่านแบบประเมินความเสี่ยงร่วมกับการถ่ายรูปป้อนกลับมายังระบบที่ออกแบบให้คำแนะนำเบื้องต้นอัตโนมัติ รวมทั้งมีระบบแจ้งกลับมายังบุคลากรสุขภาพ เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันที และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษา นวัตกรรมนี้ถูกนำไปใช้งานในโรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร พบว่าผู้ป่วย มีระดับ INR อยู่ในช่วงเป้าหมาย มีความรู้ความเข้าใจในการใช้ยา สังเกตอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้มากขึ้น มีความพึงพอใจและสามารถติดต่อสอบถามบุคลากรทีมสุขภาพได้สะดวกขึ้น ครอบครัวทราบรายละเอียดและมีส่วนร่วมดูแล ช่วยสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของโรคที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองในอนาคตได้ ทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการดูแลตนเองของสมาชิกในครอบครัวอีกทางหนึ่ง
ผลงานดังกล่าวอยู่ในกระบวนการยื่นจดอนุสิทธิบัตร และลิขสิทธิ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และมีแผนพัฒนาต่อยอด และขยายขอบเขตการใช้งานให้มากขึ้น เพื่อสร้างงานวิจัยให้เกิดการชี้นำนโยบายด้านสุขภาพและเกิดประโยชน์ต่อสังคม
"นวัตกรรมพยาบาล ประสานสหสาขาวิชาชีพ High technology, High touching, Improve quality of care"