นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนน หรือสถานสาธารณะ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 67 เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางการอนุญาตพื้นที่ค้าขาย ซึ่งจะต้องไม่กระทบต่อสิทธิของประชาชนและบุคคลอื่นในการใช้ทางเท้าสัญจรและต้องได้รับความสะดวกปลอดภัยในการใช้ทางเท้า โดยให้ สนท. และสำนักงานเขตจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าทั้งในจุดผ่อนผันและนอกจุดผ่อนผันให้เป็นไปตามประกาศฯ ดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค. 67
ทั้งนี้ กทม. ได้จัดทำบัญชีผู้ค้าที่ทำการค้าบนทางเท้าในปี 2565 พบว่า มีจุดค้าขาย 2 ประเภท ได้แก่ จุดผ่อนผัน หรือจุดทำการค้าที่ถูกต้อง 86 จุด ผู้ค้า 4,500 ราย และพื้นที่ทำการค้านอกจุด 735 จุด ผู้ค้า 16,550 ราย โดยจุดทำการค้าที่มีผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชน การจราจร ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และอื่น ๆ ได้บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ซี่งปัจจุบัน กทม. ได้จัดระเบียบจนเหลือการทำการค้าในจุดผ่อนผัน 63 จุด ผู้ค้า 3,500 ราย และการทำการค้านอกจุด 325 จุด ผู้ค้า 10,032 ราย
นอกจากนี้ กทม. ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจประเมินพื้นที่และผู้ค้า 3 ระดับ ได้แก่ ระดับสำนักงานเขต ระดับสำนักเทศกิจ และระดับผู้ตรวจราชการ กทม. โดยจะตรวจประเมินเดือนละ 1 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ม.ค. - มี.ค. 68 เพื่อพิจารณาจุดใดจะกำหนดเป็น "จุดผ่อนผัน" หรือ "พื้นที่ทำการค้า" ตามแนวทางที่กำหนด เช่น การรับฟังความคิดเห็น การกลั่นกรองของคณะกรรมการระดับเขตและระดับกรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานจราจร เพื่อประกาศอนุญาตต่อไป ส่วนจุดทำการค้าใดไม่ผ่านการประเมินจะต้องจัดระเบียบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าทราบล่วงหน้าและให้สำนักงานเขตหาพื้นที่รองรับผู้ค้า รวมถึง กทม. ได้พัฒนา Hawker Center เพื่อรองรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เช่น ด้านข้างศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) ริมคลองบางลำพู ด้านข้างสำนักงานเขตบางเขน และเตรียมพัฒนาจุดอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป ขณะเดียวกัน กทม. อยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการพิจารณากำหนดพื้นที่ค้าขายที่เป็นอัตลักษณ์ วิถีชุมชน ตลาดชุมชน หรือย่านท่องเที่ยว เพื่อรองรับพื้นที่ทำการค้าที่อยู่ในชุมชน หรือพื้นที่ที่ต้องการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว