กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ โชว์ฝีมือเยี่ยมผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2551 นับจากวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2551 มีผลกำไรสุทธิเท่ากับ 2,103.64 ล้านบาท ควบข่าวดีประกาศจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น 1.50 บาท/หุ้น ในวันที่ 13 มิถุนายน 2551
ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) เปิดเผยว่า “ในไตรมาสที่ 2 ของรอบปีบัญชี 2551 นี้ นับว่าเป็นอีกไตรมาสหนึ่งที่มีผลกำไรสุทธิดีเยี่ยมสำหรับบริษัทฯ ซึ่งเป็นผลมาจากความแข็งแกร่งของทั้งตลาดธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง และธุรกิจงานบริการนอกชายฝั่ง”
บริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิรวม 3 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2551 เท่ากับ 2,103.64 ล้านบาท โดยรวมผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 150.58 ล้านบาทแล้ว และมีกำไรต่อหุ้น เท่ากับ 3.27 บาท หรือมีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.84 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน นับจากวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2550
บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมดในไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2551 เท่ากับ 7,975.95 ล้านบาท มีรายจ่ายจากการดำเนินงานทั้งหมดในไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2551 เท่ากับ 5,365.21 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เท่ากับ 607.07 ล้านบาท อัตราค่าระวางเรือถัวเฉลี่ย ซึ่งได้รวมอัตราค่าระวางเรือที่บริษัทฯ เช่ามาเสริมกองเรือเพิ่มเติมแล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 73.55 จาก 14,453 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อวันต่อลำในไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2550 เป็น 25,083 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อวันต่อลำในไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2551
การที่ผลกำไรสุทธิรวมเพิ่มขึ้นนั้น มีสาเหตุหลักมาจากอัตราค่าระวางเรือและอัตราการใช้ประโยชน์จากเรือในธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง และในธุรกิจงานบริการนอกชายฝั่งอยู่ในระดับสูง แต่ได้ถูกหักกลบด้วยค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น (ส่งผลให้รายรับที่เป็นเงินบาทนั้นลดลง) และส่วนแบ่งกำไรจากส่วนงานธุรกิจขุดเจาะซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้
ส่วนงานธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองได้ทำสัญญารับขนส่งสินค้าล่วงหน้าแบบเช่าเหมาลำ เป็นระยะเวลาสิ้นสุด ณ ไตรมาสที่ 2 สำหรับรอบปีบัญชี 2551 ไว้แล้วร้อยละ 23.23 ของระวางบรรทุกสินค้าทั้งหมดของบริษัทฯ และร้อยละ 5.72 ของระวางบรรทุกสินค้าทั้งหมดของบริษัทฯ ในรอบปีบัญชี 2552 ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ เห็นภาพของรายได้ล่วงหน้าชัดเจน
สำหรับส่วนงานบริการที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือนั้นมีส่วนแบ่งผลกำไรสุทธิให้กับบริษัทฯ (หลังจากหักส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) เท่ากับ 67.99 ล้านบาท โดยไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยบริษัท โทรีเซน ชิปปิ้ง เอฟแซดอี มีส่วนแบ่งกำไรให้กับบริษัทฯ สูงสุด รองลงมา ได้แก่ บริษัท เฟิร์นเล่ย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับประโยชน์จากสภาพตลาดค่าระวางเรือที่แข็งแกร่ง
ส่วนธุรกิจวิศวกรรมโยธาใต้น้ำ มีอัตราการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน ร้อยละ 87.73 ในไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2551 และสร้างรายได้ร้อยละ 78.86 ของรายได้รวมของบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) (“เมอร์เมด”) และสร้างผลกำไรร้อยละ 115.12 ของกำไรจากการดำเนินงานรวม (ไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน) ให้แก่เมอร์เมด ผลประกอบการที่ดีของส่วนงานวิศวกรรมโยธาใต้น้ำมาจากอัตราค่าเช่าทรัพย์สินที่สูงขึ้น อัตราการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น แม้ว่า โดยปกติแล้วมักจะเป็นไตรมาสที่มีกิจกรรมไม่มากนัก
“ตลาดธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง ที่จริงแล้วโดยรวมอ่อนตัวลงในไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2551 ดัชนีอัตราค่าเช่าเรือ Baltic Dry Index เฉลี่ยอยู่ที่ 10,308 จุด และ 7,343 จุดในไตรมาสที่ 1 ของปีบัญชี 2551 และไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 2551 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ณ ไตรมาสปัจจุบัน ตลาดธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งโดยรวมปรับตัวสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากดัชนีอัตราค่าเช่าเรือ Baltic Dry Index อยู่ในระดับสูงกว่า 10,000 จุด ณ วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้จุดสูงสุดที่เคยมีทั้งนี้ อัตราค่าเช่าเรือขนาด Supramax เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 64,036 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อวัน ณ วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
อัตราการใช้ประโยชน์ของกองเรือในตลาดเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก ทั้งนี้ R.S. Platou ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าอัตราการใช้ประโยชน์ของกองเรือโลกใกล้ร้อยละ 100 จำนวนเรือสั่งต่อใหม่ที่จะรับมอบในปี 2552 และในปีถัดๆ ไป ก่อให้เกิดความหวั่นวิตก อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนเกี่ยวกับระยะเวลาการส่งมอบเรือของอู่ต่อเรือหลายๆ แห่ง ประเด็นทางด้านการเงิน และการเติบโตของอุตสาหกรรมแร่เหล็ก และถ่านหิน ที่สูงอย่างต่อเนื่องนั้นช่วยลดความเสี่ยงจากการลดต่ำลงของค่าระวาง
สำหรับสภาวะตลาดสำหรับธุรกิจเรือขุดเจาะยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยดูจากตัวเลขค่าเช่าเรือขุดเจาะในภูมิภาคที่สูงถึงวันละ 115,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อวัน ซึ่งเรือขุดเจาะ (Tender Rig) นั้น โดยพื้นฐานจะทำงานเกี่ยวกับการผลิต โดยมีระยะเวลาของสัญญาที่นานกว่าส่วนงานอื่นๆ และส่วนใหญ่จะมีการทำสัญญากันล่วงหน้า บริษัทฯ เชื่อว่าภาพรวมของธุรกิจเรือขุดเจาะยังคงสดใส และสภาพตลาดเช่นนี้จะยังคงเอื้ออำนวยโอกาสดีๆ ในการสร้างความเติบโตทางธุรกิจต่อไป” ม.ล. จันทรจุฑา กล่าว
คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จากผลการดำเนินงานงวดระยะเวลาหกเดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2551 หุ้นละ 1.50 บาท ให้แก่หุ้นสามัญจำนวน 643,684,422 หุ้น ที่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เวลา 12.00 น. และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2551
บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ เป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าแห้งเทกองโดยให้บริการขนส่งสินค้าแบบประจำเส้นทางและให้เช่าเหมาลำ รวมทั้งเป็นหนึ่งในบริษัทรายใหญ่ที่ให้บริการงานนอกชายฝั่งเกี่ยวกับงานบริการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและงานวิศวกรรมโยธาใต้น้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งเป็นหนึ่งใน 50 อันดับแรกของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง รวมทั้งมีสภาพคล่องสูง