กระทรวง อว. โดย สกสว. รับเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ผนึกกำลัง ร่วมปั้นอุตฯ แบตเตอรี่มาตรฐานสับเปลี่ยนได้ พลิกโฉม EV ไทย และเพิ่มการพึ่งพาการผลิตภายในประเทศ

ข่าวยานยนต์ Thursday February 13, 2025 09:06 —ThaiPR.net

กระทรวง อว. โดย สกสว. รับเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ผนึกกำลัง ร่วมปั้นอุตฯ แบตเตอรี่มาตรฐานสับเปลี่ยนได้ พลิกโฉม EV ไทย และเพิ่มการพึ่งพาการผลิตภายในประเทศ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะสมาชิกก่อตั้งภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน EV-Innovation ภายใต้นโยบาย อว. For EV เพื่อสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายพันธมิตรจัดงานประชาสัมพันธ์ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และจัดกิจกรรมเสวนาบทบาทการผลักดันด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศ ครั้งที่ 1 ภายใต้ชื่อ "Thailand Battswap" โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สกสว. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

รองศาสตราจารย์ ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่อง และเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (Standard Swappable Battery Consortium) โดยทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ดำเนินโครงการวิจัยใน โครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกสว. ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำหรับการประยุกต์ใช้แพล็ตฟอร์มมาตรฐานสำหรับแพ็กแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้ ที่จะก่อให้เกิดห่วงโซ่มูลค่า อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์ในการใช้งานแบตเตอรี่แพ็คแบบสับเปลี่ยนได้ในยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่พึ่งพาเทคโนโลยีและการผลิตได้ในประเทศอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

ทางด้าน ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ประธานภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก กล่าวถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทย พร้อมแนะนำภาคีเครือข่ายความร่วมมือฯ โดยปัจจุบันมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามีราคาสูงและมีข้อจำกัดหลายด้านที่ยังไม่ตอบสนองความต้องการการใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ อาทิ ความจุแบตเตอรี่ไม่เพียงพอตลอดระยะการขับขี่ และการชาร์จแบตระหว่างวันไม่ตอบโจทย์การให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน และข้อจำกัดในการสับเปลี่ยนแพ็กแบตเตอรี่ของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในปัจจุบันยังจำกัดอยู่เพียงการสับเปลี่ยนภายในแบรนด์เดียวกันเท่านั้น เพราะยังไม่มีมาตรฐานกลางด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์แพ็กแบตเตอรี่และสถานีประจุไฟฟ้า

ดังนั้น การจัดตั้งภาคีเครือข่ายความร่วมมือฯ นี้ จึงมีเป้าหมายในการสร้างมาตรฐานกลางสำหรับสับเปลี่ยนแพ็กแบตเตอรี่ ที่สามารถใช้งานได้กับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ทุกสถานีสับเปลี่ยน เป็นการลดต้นทุนของผู้ประกอบการมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแต่ละรายเนื่องจากมีการแชร์โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน รวมถึงลดต้นทุนค่าขนส่งให้กับผู้ใช้งานอีกด้วย พร้อมทั้งได้มีการนำเสนอข้อมูลกลไกการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดย นายอภิวัฒน์ ถาวรแก้ว นักพัฒนานวัตกรรม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA อีกด้วย

นอกจากนี้ ได้มีการเสวนาในหัวข้อ "บทบาทการผลักดันด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศ" โดยผู้แทนจากสมาชิกก่อตั้งภาคีเครือข่ายฯ ทั้ง 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สถาบันยานยนต์ (สยย.) สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) และ สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายฯ โดยในระยะต่อไปมีแผนการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนา connector มาตรฐาน และ การขยายผลในมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า จำนวน 500 - 1,000 คัน ซึ่งจะนำไปใช้ในโครงการ City Lab
การเปลี่ยนผ่านมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร กิจกรรมนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ที่มุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทย รวมถึงลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ