นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม. ได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดการขยะไว้ในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี โดยมุ่งเน้นพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะและของเสียอันตรายด้วยแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste Management) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อให้ขยะที่จะเข้าสู่ระบบกำจัดเหลือน้อยที่สุด และกำจัดส่วนที่เหลือด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล โดยในปี 2575 มีเป้าหมายลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดร้อยละ 20 เพิ่มปริมาณขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ร้อยละ 50 รวมถึงมีความพร้อมด้านการจัดการขยะปลายทาง ทั้งเรื่องงบประมาณและวิธีการกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ถูกหลักวิชาการ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ กทม. ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะอย่างต่อเนื่อง โดยรณรงค์ส่งเสริมประชาชนและภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิด รวมทั้งใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอยให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลัก 3R (ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่) ลดการใช้ทรัพยากร เพื่อลดการเกิดขยะ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการขยะให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดยส่งเสริมให้ครัวเรือนลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิด ได้แก่ ขยะรีไซเคิลแยกขาย หรือบริจาค ขยะเศษอาหารแยกหมักทำปุ๋ย หรือนำไปเลี้ยงสัตว์ ส่วนขยะทั่วไปและขยะอันตราย แยกให้ กทม. เก็บขนและนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งปลูกฝังวินัยและสร้างจิตสำนึกการลดและคัดแยกขยะให้กับนักเรียนโรงเรียนในสังกัด โดยให้ความรู้ความเข้าใจ จัดถังรองรับมูลฝอยแยกประเภทในโรงเรียน และดำเนินการโรงเรียนปลอดขยะทุกโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ส่วนความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันพัฒนาต้นแบบการจัดการขยะแยกประเภทในอาคารประเภทต่าง ๆ เช่น อาคารชุด โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ชุมชน รวมถึงจัดการขยะในการจัดงานต่าง ๆ ควบคู่กับการพัฒนาแอปพลิเคชันรวบรวมวัสดุรีไซเคิลและเศษอาหาร เพื่อให้ประชาชนผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเชื่อมต่อกันได้โดยตรง นำไปสู่การแยกขยะที่ต้นทางได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน กทม. ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะ โดยวางระบบรวบรวมมูลฝอยแยกประเภท ตั้งถังขยะแยก 2 ประเภท คือ มูลฝอยทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน) และมูลฝอยรีไซเคิล (ถังสีเหลือง) อย่างทั่วถึงในพื้นที่สาธารณะกว่า 2,000 จุด ส่วนในสถานที่ราชการ ชุมชน และโรงเรียนในสังกัดทั้ง 50 เขตจะจัดตั้งถังขยะ 4 ประเภท ได้แก่ ถังมูลฝอยเศษอาหาร ถังมูลฝอยรีไซเคิล ถังมูลฝอยอันตรายจากชุมชน และถังมูลฝอยทั่วไป พร้อมกำหนดเวลาทิ้งในถนนสายหลักและถนนสายรอง เวลา 18.00 - 03.00 น. และจัดเก็บให้เสร็จสิ้นก่อนเวลา 05.30 น. ส่วนถนน ตรอก ซอย จัดเก็บ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ตามปริมาณและประเภทมูลฝอย เพื่อป้องกันมูลฝอยตกค้างในพื้นที่ และกำหนดวันเก็บมูลฝอยตามประเภท ได้แก่ มูลฝอยรีไซเคิล มูลฝอยอันตราย มูลฝอยชิ้นใหญ่ จัดเก็บทุกวันอาทิตย์ หรือนัดหมายตามประกาศแจ้งของสำนักงานเขตฯ
นอกจากนี้ สสล. อยู่ระหว่างปรับปรุงระบบการทิ้งมูลฝอยบริเวณถนนสายหลักและถนนสายรอง โดยให้สำนักงานเขตดำเนินการโครงการถนนปลอดถุงขยะ ซี่งจะทดลองนำร่องและขยายผลให้ครอบคลุมทุกสำนักงานเขตภายในปี 2568 โดยให้สำนักงานเขตกำหนดเวลาวางถุงขยะที่ประชาชนต้องทิ้งเป็นประจำในช่วงหลังเวลา 17.00 น. ได้เพียง 2 ชั่วโมง (1+1) คือ 1 ชั่วโมงแรกสำหรับให้ประชาชนนำถุงขยะมาวาง และอีก 1 ชั่วโมงสำหรับเจ้าหน้าที่เขตเข้าจัดเก็บให้แล้วเสร็จ โดยห้ามวางถุงขยะนอกเวลาดังกล่าวเด็ดขาด ซึ่งสำนักงานเขตฯ จะต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชน จัดรถเข้าจัดเก็บตรงเวลา และตรวจจับปรับผู้ฝ่าฝืนอย่างจริงจัง ผลการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้มีถุงขยะกองบนทางเท้าเพียง 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นถนนจะสะอาด ไม่มีถุงขยะ เพื่อส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย
สำหรับความคืบหน้าการส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วนตามโครงการไม่เทรวม ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการคัดแยกขยะอินทรีย์นำไปใช้ประโยชน์ที่ต้นทาง โดยตั้งเป้าหมายการคัดแยกขยะเศษอาหารตามโครงการไม่เทรวม ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 - 2569 ไว้เท่ากับ 200 / 500/ 1,000 ตันต่อวันตามลำดับ ซึ่งในปี 2567 มีปริมาณมูลฝอยเศษอาหารที่ถูกคัดแยกรวม 94,514 ตัน หรือเฉลี่ย 261 ตัน/วัน เกินเป้าหมายที่กำหนด และมีแหล่งกำเนิดมูลฝอยที่ให้ความร่วมมือคัดแยกมูลฝอยเศษอาหารกว่า 4,300 แห่ง นอกจากนี้ กทม. อยู่ระหว่างการยกร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมเดิมที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2546 ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมลดและคัดแยกมูลฝอยตามหลักการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการมูลฝอยตามปริมาณที่ทิ้ง (Pay as you throw: PAYT) โดยหากประชาชนคัดแยกและนำมูลฝอยไปขายหรือใช้ประโยชน์ จะทำให้เหลือมูลฝอยที่จะทิ้งน้อยลงและชำระค่าธรรมเนียมลดลงเช่นกัน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนแยกขยะที่ต้นทาง และมีผลต่อการลดค่าธรรมเนียมการจัดการขยะของ กทม.
ส่วนรูปแบบการจัดเก็บมูลฝอย ปัจจุบัน กทม. ใช้รถเก็บขนมูลฝอยที่ออกแบบให้มีช่องแยกสำหรับเก็บมูลฝอยแยกประเภท ได้แก่ มูลฝอยนำกลับมาใช้ใหม่ (มูลฝอยรีไซเคิล) มูลฝอยอันตราย และมูลฝอยอินทรีย์ มีช่องเก็บมูลฝอยแยกประเภทอยู่บริเวณคอรถ หรือด้านหลังคนขับ และมูลฝอยทั่วไปจะบีบอัดบริเวณท้ายรถเก็บขนมูลฝอย ดังนั้น เมื่อประชาชนคัดแยกและบรรจุมูลฝอยใส่ถุงบรรจุมูลฝอยตามประเภทแล้ว พนักงานเก็บขนมูลฝอยจะนำถุงบรรจุมูลฝอยที่คัดแยกแล้วไปใส่ในช่องเก็บมูลฝอยแต่ละประเภทบนรถเก็บขนมูลฝอย และขนส่งมูลฝอยไปเข้าสู่กระบวนการกำจัดที่เหมาะสมตามประเภทมูลฝอยต่อไป