นายศรชัย โตวานิชกุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (สงต.) กล่าวกรณีเรียกร้อง กทม. ทบทวนยกเลิกสิทธิแผงค้าตลาดนัดจตุจักร 529 ราย การเรียกเก็บค่าปรับผู้ค้าจ่ายค่าเช่าแผงค้าล่าช้าในอัตราสูงและการเก็บค่าเช่าแผงค้าริมรั้วว่า ในช่วงปี 2528 บริเวณลานหอนาฬิกาตลาดนัดจตุจักร มีความกว้าง 19 เมตร ได้อนุญาตให้ผู้ค้าเช่าพื้นที่ทำการค้าชั่วคราว โดยกางร่ม ขึงผ้าใบและนำสินค้าเข้ามาตั้งแผงจำหน่ายในวันศุกร์และขนย้ายกลับทั้งหมดในเย็นวันอาทิตย์ ต่อมาในปี 2548 ได้อนุญาตให้กางเต็นท์ได้ แต่ต้องขนย้ายสินค้าทุกเย็นวันอาทิตย์ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีการทำสัญญาให้สิทธิแต่อย่างใด จนกระทั่งได้คืนพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริหาร เมื่อปี 2555 รฟท. ได้ทำสัญญากับผู้เช่าและไม่ได้ให้ผู้ค้าขนย้ายสินค้ากลับ จนมีมติคณะรัฐมนตรี ในปี 2561 ให้ กทม. กลับมาเป็นผู้บริหารแทน รฟท. ได้ส่งมอบสัญญาให้สิทธิทำการค้าโครงการ 30 (พื้นที่สีเขียว) มาให้ กทม. บริหารแทน ซึ่ง สงต. จึงได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ตามนโยบายและภารกิจที่เกี่ยวข้อง สงต. จึงได้ประกวดราคาให้เอกชนเช่าพื้นที่ถนนภายในตลาดนัดจตุจักรจัดทำตลาดนัดกลางคืน โดยจ่ายค่าเช่าเป็นรายได้ของ สงต. ส่วนพื้นที่โครงการ 30 เมื่อได้รับคืนพื้นที่ จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้กับผู้ค้าทุกโครงการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพื้นที่บริเวณโครงการ 30 มีปัญหาความไม่เป็นระเบียบ ความร้อนอบอ้าว และปัญหาการระบายอากาศ อีกทั้งความกว้างของลานหอนาฬิกาถูกลดลงจาก 19 เมตร เหลือเพียง 9 เมตร ส่งผลให้ร้านค้ากึ่งถาวรที่อยู่ด้านริมของพื้นที่ถูกบดบังทำให้เกิดการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง และเมื่อสัญญาให้สิทธิจำหน่ายสินค้าใกล้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ต.ค. 67 กทม. จึงมีนโยบายพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้สวยงาม เป็นจุดพักผ่อนของนักท่องเที่ยว เป็นจุดหมาย (Landmark) ของนักท่องเที่ยวที่มาตลาดนัดจตุจักร รวมทั้งใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมและอีเวนต์ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดคนเข้ามาบริเวณลานหอนาฬิกาโดยสัญจรผ่านแผงค้าตามซอยแยกโครงการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สงต. จึงออกประกาศให้ผู้ค้าในโครงการ 1 - 29 และ 31 มาจัดทำสัญญาใหม่ และไม่ได้ต่อสัญญาให้กับผู้ค้าโครงการ 30 โดยภายหลังได้ขยายระยะเวลาให้สิทธิผู้ค้าโครงการ 30 สามารถต่อสัญญาและค้าขายได้ จนถึงวันที่ 30 เม.ย. 68 ก่อนที่จะคืนพื้นที่ให้ สงต. เพื่อให้ผู้ค้ามีเวลาเตรียมรื้อย้ายและเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ได้เปิดโอกาสให้ผู้ค้าในโครงการ 30 ที่ไม่มีหนี้ค้างสามารถเลือกแผงค้าว่างภายในตลาดนัดจตุจักรประมาณ 200 แผง โดยไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียม แรกเข้า 60,000 บาท แต่ปรากฏว่ามีผู้ค้ามาเลือกเพียง 15 ราย และจากแผงค้า 529 ราย มีเพียง 134 ราย ที่มาต่อสัญญา ส่วนที่เหลือไม่มาต่อสัญญา จึงถือว่าไม่ประสงค์จะทำการค้าต่อไป
สำหรับกรณีที่ระบุค่าปรับค่าเช่าล่าช้า มีอัตราสูงถึง 1,800% นั้นเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าที่กำหนดตั้งแต่ปี 2562 ที่ กทม. รับมอบพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรจาก รฟท. มาบริหาร โดยระบุค่าปรับกรณีชำระค่าเช่าล่าช้าในอัตราวันละ 5% ของค่าเช่ารายเดือน หรือวันละ 90 บาท ซึ่งผู้ค้าทุกคนรับทราบเงื่อนไขดังกล่าวตั้งแต่ทำสัญญาเช่าและมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าให้ตรงตามกำหนด หรือหากล่าช้าต้องรีบชำระค่าปรับโดยเร็ว ไม่ใช่ปล่อยให้ค่าปรับสะสมเป็นระยะเวลานานจนยอดค้างชำระมีจำนวนที่สูง ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ค้าที่มีหนี้ค้างชำระพร้อมค่าปรับ จำนวน 1,585 แผงค้า ได้มารับสภาพหนี้และยินยอมผ่อนชำระค่าปรับภายในระยะเวลาไม่เกิน 36 เดือน ปัจจุบันเหลือผู้ค้า จำนวน 275 แผงค้า ที่ไม่ได้ติดต่อชำระค่าเช่าพร้อมค่าปรับ หรือยินยอมรับสภาพหนี้ สงต. จึงได้ออกหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและให้คืนแผงค้า พร้อมดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย อีกทั้งในสัญญายังกำหนดให้ผู้เช่ารับผิดชอบค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงค่าขายเกินพื้นที่หรือขายริมฟุตบาทไว้ด้วย เพื่อจัดระเบียบพื้นที่ภายในตลาดนัดจตุจักร
ทั้งนี้ กรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับค่าปรับ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยว่า สัญญาที่ใช้ในการให้สิทธิการเช่าเป็นสัญญาทางแพ่ง และ สงต. ได้มีมาตรการผ่อนปรนให้ผู้ค้า เช่น การขยายเวลาชำระค่าเช่าระหว่างปี 2563-2565 การให้ทำหนังสือรับสภาพหนี้และผ่อนชำระหนี้ ส่วนกรณีที่ห้ามผู้ค้าที่มีหนี้ค้างต่ออายุสัญญาเช่าแผงค้า เป็นการป้องกันความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ค้าที่ชำระค่าเช่าตรงเวลากับผู้ที่ค้างชำระค่าเช่า ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อโต้แย้งจากผู้ค้าส่วนใหญ่ที่ชำระค่าเช่าตรงตามกำหนด ดังนั้น จึงไม่สามารถรับฟังได้ว่า สงต. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเป็นการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน หรือไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้องเรียน
ส่วนกรณีการเก็บค่าเช่าพื้นที่แผงค้าริมรั้วตลาดนัดจตุจักร ในปี 2562 สงต. มีรายรับจากการให้เช่าพื้นที่ริมรั้วดังกล่าว แต่ในปี 2563 คณะกรรมการบริหาร สงต. กทม. มีมติให้ยกเลิกการจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่ดังกล่าวและดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่ริมรั้ว โดยรื้อย้ายวัสดุสิ่งของต่าง ๆ เทพื้น และทาสี เพื่อให้ตลาดมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น ต่อมาเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่มีการจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่ริมรั้วระหว่างปี 2563-2566 และในปี 2567 สงต. ได้ออกประกาศเรื่อง "อัตราค่าธรรมเนียมการให้สิทธิใช้สถานที่เป็นการชั่วคราว" ซึ่งกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับพื้นที่ว่างบริเวณริมรั้วภายในตลาดนัดจตุจักร ตารางเมตรละ 360 บาท/เดือน จึงเริ่มจัดเก็บรายได้จากพื้นที่ริมรั้วอีกครั้ง ทั้งนี้ รายได้ที่เกิดขึ้นจากการใช้พื้นที่ริมรั้วดังกล่าวจะบันทึกบัญชีรายได้ในหัวข้อ "ค่าใช้พื้นที่จุดผ่อนผัน - ประเภทริมรั้ว"
นอกจากนี้ สงต. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและการให้สิทธิ การให้เช่า การให้ใช้ แผงค้าตลาดนัดจตุจักร ตามระเบียบ กทม. ว่าด้วยการทรัพย์สินของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2564 โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะได้สิทธิเข้าทำการค้า เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนเงื่อนไขการเช่า ห้ามไม่ให้มีการปล่อยเช่าช่วงแผงค้าให้แก่บุคคลภายนอก หรือแรงงานต่างชาติ และหากพบว่ามีการฝ่าฝืนเงื่อนไข จะดำเนินการเพิกถอนสิทธิในแผงค้าเป็นรายกรณี โดยได้แจ้งเตือนผู้ค้าให้รับทราบเงื่อนไขดังกล่าว รวมทั้งได้ประสานขอความร่วมมือจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ เพื่อตรวจสอบแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงานภายในตลาดนัดจตุจักรอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง