
ในยุคที่ปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนเป็นประเด็นสำคัญของสังคม "โครงการโรงเรียนคำพ่อสอน" โดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จากการดำเนินการมากว่า 9 ปี พบว่า การเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ครูเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนและยังสร้างพฤติกรรมด้านบวกให้เยาวได้อีกด้วย โดยโครงการโรงเรียนคำพ่อสอนเริ่มต้นพาครูเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจในตัวเอง เข้าใจในความแตกต่างของมนุษย์ ใช้ความรักความความเมตตา เข้าใจ ให้อภัย ให้โอกาส ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ที่2 นักเรียนจะอบอุ่นใจว่าเขามีคุณค่าในสายตาครูเขายังมีครูเป็นที่พึ่ง
รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้ทำความดีเพื่อผู้อื่นในสิ่งใกล้ตัวอย่างต่อเนื่องเป็นวิถีชีวิตในโรงเรียน เช่น พี่สอนน้อง ฯ ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันเป็นหมู่คณะของนักเรียน ส่งผลให้นักเรียนเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self Esteem) เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง และครูต้องมีท่าทีในเชิงบวกกับนักเรียนเช่น ยิ้ม หาเรื่องชื่นชม ตั้งใจรับฟังในสิ่งที่นักเรียนพูด เป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งตรงตามกระแสพระราชดำรัสเพื่อปฏิรูปการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) "..ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อนไม่ให้แข่งขันกันแค่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกันเพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี.."
แนวปฏิบัติดังกล่าวนี้สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กนักเรียนได้อย่างแท้จริง โดยโครงการนี้มิได้เพียงช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงของเด็ก ๆ เช่นเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่ ไม่หนีเรียน ลดความก้าวร้าวรุนแรงในโรงเรียนแล้ว แต่ยังส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก ทำให้การเรียนรู้ด้านวิชาการของเด็กดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ขยายความสำเร็จจากประถมสู่มัธยม
จากความสำเร็จของโครงการฯ ในระดับประถมศึกษา ได้นำไปสู่การขยายผลสู่ระดับมัธยมศึกษา โดย "โรงเรียนชุมชนวัดหาดสำราญ" สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา (สพป.) จังหวัดชุมพร เขต 2 เป็นหนึ่งในโมเดลต้นแบบของการประยุกต์ใช้แนวทางของโครงการโรงเรียนคำพ่อสอนจนเกิดผลสำเร็จ
นางสาวรจนา กลิ่นหอม ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดหาดสำราญ ตำบลหาดยาย อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร กล่าวว่า "โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีทั้งนักเรียนประถมศึกษา (ป. 1 - ป.6 ) และมัธยมศึกษา (ม.1 - ม.3 ) ซึ่งก่อนหน้านี้พบปัญหาด้านพฤติกรรมของเด็ก เช่น การไม่เข้าเรียน การยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข เราจึงได้นำหลักการของโรงเรียนคำพ่อสอนมาใช้กับเด็กระดับมัธยมฯ ในกระบวนการเดียวกัน แต่ละเอียดอ่อนต่างกัน ด้วยพฤติกรรมเป็นเด็กที่โตกว่า โดยมีกิจกรรมที่โรงเรียนได้นำมาจากโครงการโรงเรียนคำพ่อสอนมาทำเป็นกิจวัตรหรือเป็นวิถีของโรงเรียนคือ 'เปิดเทอมสร้างสุข ให้ความรักก่อนให้ความรู้' เช่น การกอด ยิ้ม ชม สบตา สวัสดี ซึ่งโครงการโรงเรียนคำพ่อสอนได้พาครูไปเรียนรู้จิตวิทยานีโอฮิวแมนนิส กับรศ.ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุล เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน
นอกจากนี้ ยังมีขบวนการตาสับปะรด ที่ให้นักเรียนช่วยกันสอดส่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและรายงานครูโดยไม่เปิดเผยตัวตน ซึ่งช่วยลดปัญหาการหนีเรียนและพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งเด็กมัธยมฯ สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เข้าถึงสื่อโซเชียลได้ง่าย เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมาในรูปแบบต่าง ๆ เราต้องใส่ใจให้มาก การชวนนักเรียนมาทำกิจกรรมในหลายๆ มิติ มอบหมายให้มีบทบาทในกิจกรรมต่าง ๆ จะทำให้เขารู้สึกมีคุณค่าและได้รับการยอมรับจากสังคม เด็กจะมีความภูมิใจในตนเอง ผลลัพธ์ที่ได้ คือ เด็กมีจิตสาธารณะมากขึ้น ลดพฤติกรรมก้าวร้าว และเรียนรู้เกี่ยวกับโทษภัยของยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพ"
เปลี่ยนแปลงครู สู่การเปลี่ยนแปลงเด็ก
"โรงเรียนคำพ่อสอน" ที่เริ่มต้นจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของครูที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้เกิดความเข้าใจต่อพฤติกรรมของนักเรียนและรับฟังนักเรียนมากขึ้น ทำให้นักเรียนมีความกล้าเข้ามาปรึกษาครู การเปลี่ยนแปลงของครู จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเด็กนักเรียนเช่นกัน
นางสาวเบญจมาศ คงคาชัย หรือ "ครูบิว" โรงเรียนชุมชนวัดหาดสำราญ อ.หลังสวน จ.ชุมพร กล่าวถึงแนวทางการนำโครงการ "โรงเรียนคำพ่อสอน" มาประยุกต์ใช้ว่า "เมื่อก่อนครูบางคนอาจจะใช้คำพูดรุนแรงกับเด็ก แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการ ครูกลายเป็นผู้รับฟังที่ดี ใช้คำพูดสุภาพ และให้ความรักความเข้าใจเด็กมากขึ้น ส่งผลให้เด็กกล้าปรึกษาครู ลดช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียน และทำให้บรรยากาศในโรงเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด" นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังมีกิจกรรม "พี่สอนน้อง" ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมเป็นพี่เลี้ยงดูแลน้องประถม ส่งเสริมความรับผิดชอบและภาวะผู้นำ ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกมีคุณค่า และช่วยลดปัญหาพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ และการใช้สื่อโซเชียลในทางที่ผิดอีกด้วย
เปลี่ยนแปลงตนเองจนเป็นแบบอย่าง
เด็กชายจรูญโรจน์ ปานมณี หรือ น้องกัน นักเรียนชั้น ม.2 เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากโครงการโรงเรียนคำพ่อสอน เดิมทีเขาติดบุหรี่ตั้งแต่ชั้น ม.1 เนื่องจากอิทธิพลจากเพื่อนกลุ่มเก่า แต่เมื่อครอบครัวทราบและขอให้เลิก เขาจึงตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่โดยอาศัยกิจกรรมสนับสนุนของโรงเรียน เช่น การเข้าร่วมโครงการ "พี่สอนน้อง" และการใช้ลูกอมเลิกบุหรี่ที่ทางโรงเรียนจัดทำขึ้น
น้องกันกล่าวว่า "พอเลิกบุหรี่ได้ ผมรู้สึกดีขึ้นมาก มีความตั้งใจเรียน และอยากเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับน้อง ๆ ในโรงเรียน ตอนนี้เข้ามาเป็นทีมงาน ทำกิจกรรมดี ๆ สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนครับ "
โมเดลแห่งการสร้างสังคมที่ดี
นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังได้เชื่อมโยงโครงการฯ กับชุมชน โดยการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น "สาหร่ายใบไชยาทอดกรอบ" และ "ชามัทฉะไชยา" (ชาเขียว) ซึ่งได้รับรางวัลระดับจังหวัด นอกจากนี้ ยังมี "ลูกอมหญ้าหมอน้อย" ที่ได้รับการตอบรับอย่างดี ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้การสร้างรายได้ และเพิ่มความภาคภูมิใจในตนเองด้วย
การนำกระบวนการจากโครงการ "โรงเรียนคำพ่อสอน" มาใช้ในโรงเรียนชุมชนวัดหาดสำราญได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เพียงแต่ลดพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียน แต่ยังช่วยปรับเปลี่ยนแนวทางการสอนของครูและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในโรงเรียน โมเดลนี้แสดงให้เห็นว่า หากมีแนวทางที่เหมาะสมและการสนับสนุนที่ดีจากครู ผู้ปกครอง และชุมชน ก็สามารถสร้างโรงเรียนที่เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และการพัฒนาเยาวชนได้อย่างแท้จริง //