
เมื่อปี พ.ศ. 2544 สมเถา สุจริตกุล คีตกวีไทย-อเมริกัน ได้รับเชิญให้กลับมาประเทศไทยเพื่อนำเสนอ "Madana" มหาอุปรากรไทยเรื่องแรก ซึ่งเป็นผลงานที่เขารังสรรค์จากพระราชนิพนธ์ "มัทนพาธา" ในพระมหาธีรราชเจ้า (รัชกาลที่ 6) โปรดเกล้าฯ พระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี (สมเด็จอาของผู้ประพันธ์) การนำเสนอรายการดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของ "บางกอกโอเปร่า" (ปัจจุบัน "โอเปร่าสยามอินเตอร์เนชั่นแนล)
แม้บางกอกโอเปร่าก่อตั้งเพื่อกิจกรรมเดียวเมื่อแรกเริ่ม ต่อมาได้ขยายกิจการเป็นสถาบันระดับชาติภายนามใหม่ "โอเปร่าสยาม" ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชคนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเสนอแนะ
นับแต่นั้นเป็นต้นมา โอเปร่าสยามได้ผลิตผลงานด้านสังคีตศิลป์คลาสสิกมาตรฐานโลกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งก่อตั้งวงดุริยางค์ โครงการศึกษา และคณะนักร้องประสานเสียง 2 คณะ
"เราเจอปัญหาหนักหลายช่วง" สมเถากล่าว "ในระยะแรก เราต้องอาศัยชาวต่างชาติซึ่งรู้และเข้าใจว่างานนี้ต้องผ่านอะไรบ้าง" แต่หลังจากนำเสนอการแสดงระดับมาตรฐาน 65 เรื่องกับคอนเสิร์ตนับร้อยทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะบนเวทีระดับโลก อาทิ คาร์เนกีฮอลล์ นครนิวยอร์ก, หอทอง Musikverein กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และมหาอุปรากรที่สหราชอาณาจักร เยอรมนี สาธารณรัฐเชค ฯลฯ
โอเปร่าสยามจึงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติว่าเป็นศูนย์รวมสังคิตศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมเถา สุจริตกุล ผู้ก่อตั้งได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ รางวัลทูตสาธารณะจากกระทรวงการต่างประเทศ รางวัล Golden W จากสมาคมวากเนอร์นานาชาติ และเป็นชาวเอเชียคนเดียวที่ได้รับรางวัล European Cultural Achievement Award (ความสำเร็จสูงสุดด้านวัฒนธรรมยุโรป)
โอเปร่าสยามฉลองวาระครบรอบปีที่ 25 ด้วยรายการที่น่าสนใจหลากหลาย เริ่มจากวันที่ 1 มีนาคม 2568 ที่โรงแรมบันยันทรีด้วยคอนเสิร์ตรวม 18 ดารานักร้องเด่นดังซึ่งก้าวเข้ามาในวงการจากโอเปร่าสยามในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา อาทิ กิตตินันท์ ชินสำราญ (เบสส์/แบริโทนชั้นนำ) นาฎลดา ธรรมธนาคม (สมาชิกคณะมหาอุปรากรเบลเยียม) ศิโยน ดาวรัตนหงส์ (นักร้องเด่นดังที่เคยร่วมแสดงกับโอเปร่าสยามบนเวทีคาร์เนกี สหรัฐอเมริกา) ฯลฯ ท่านจะได้ฟังนักร้องเอกขับร้องเดี่ยว คู่ และรวมเพลงเอกจากมหาอุปรากรยอดนิยมระดับโลก กับ 3 วาทยกรมีชื่อ ได้แก่ ทฤษฎี ณ พัทลุง, วรปรัชญ์ วงส์สถาพรพัฒน์ และสมเถา สุจริตกุล
ในเดือนพฤษภาคม 2568 โอเปร่าสยามจะนำ "มัทนา" กลับพบผู้ชมอีกครั้งที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย การนำเสนอครั้งนี้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยยิ่งขึ้น รวมทั้งลีลาระบำ ออกแบบโดยแดร์เรน รอยสตัน จาก UNESCO Dance Representative
มัทนาเป็นเรื่องรักสามเส้าของกษัตริย์ พระราชินี กับมัทนา สาวงามผู้ต้องสาปให้มีชีวิตเช่นกุหลาบ จะกลายร่างเป็นมนุษย์เฉพาะช่วงพระจันทร์เต็มดวงเท่านั้น เรื่องของมัทนาได้รับการถ่ายทอดเป็นมหาอุปรากรมาตรฐานสากลโดยสมเถา สุจริตกุล ผู้ประพันธ์ดนตรีและเนื้อร้อง (ภาษาอังกฤษ) มัทนาเป็นมหาอุปรากรเรื่องแรกของศตวรรษที่ 21 ซึ่งนิตยสาร Opera Now แห่งสหราชอาณาจักรยกย่องว่าเป็น "The operatic event of the year"
กรกฎาคม 2568 โอเปร่าสยามจะนำ The Silent Prince (เตมีย์ใบ้) มหาอุปรากรจากชุดทศชาติ ซึ่งเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบบุคลาธิษฐานหรือการแสดงกลับมาอีกครั้งด้วยความร่วมมือของ Thailand Foundation เพื่อเตรียมนำไปแสดงทัวร์ประเทศเวียดนาม
สิงหาคม 2568 สยามซินโฟนิเอตต้า ร่วมกับท่านผู้หญิงพลอยไพลิน เจนเซน นำเสนอ "คอนเสิร์ตครอบครัว" โดยสมาชิกครอบครัวท่านผู้หญิง ร่วมกับดาราไทยและต่างประเทศ รายได้สมทบทุนการกุศล
นอกจากรายการดังกล่าว โอเปร่าสยามยังมีแผนนำเสนอรายการที่น่าตื่นเต้นอีกหลายหลากเพื่อฉลองวาระครบรอบปีที่ 25 โดยเชื่อมโยงกับ 150 ปี Bayreuth Festival ประเทศเยอรมนี
ในช่วงสมัยกาลที่ 15 (Fifteenth Season) 2568 สยามซินโฟนิเอตต้า ซิมโฟนีออร์เคสตร้าเยาวชนในสังกัดโอเปร่าสยามจะนำเสนอดนตรีอมตะอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ผลงานของมาห์เลอร์ เบโธเฟน ไชคอฟสกี สตาวินสกี รวมทั้งบรรเลงทัวร์มาเลย์เซียในเดือนมิถุนายน 2558 นอกจากนั้นโอเปร่าสยามยังมีแผนนำเสนอ Petrouchka บัลเล่ต์เต็มเรื่อง ออกแบบลีลาใหม่โดยแดร์เรน รอยสตัน ภายใต้การอำนวยดนตรีของไมสโตรสมเถา สุจริตกุล