
กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) อัปเดตมุมมองเศรษฐกิจและเทรนด์การลงทุนปี 2025 ในงานสัมมนา Krungsri Exclusive Economics and Investment Outlook ภายใต้หัวข้อ 2025 Investment Strategies: Thriving Amid Global Uncertainty จัดขึ้นสำหรับลูกค้ากรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ โดยสรุปคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิด COVID เนื่องจากปัจจัยต่างๆ อาทิ เทคโนโลยี AI นโยบายการคลังและการเงิน รวมถึงผลกระทบจากนโยบายภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ที่มีทั้งด้านบวกและลบต่อเศรษฐกิจไทย ชี้การลงทุนในตราสารหนี้และหุ้นยังคงมีความน่าสนใจท่ามกลางสภาวะผันผวน เนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่สูงและแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ FED ในอนาคต พร้อมแนะนำกลยุทธ์ลงทุนแบบ Active ที่เน้นการจับจังหวะ และปรับน้ำหนักการลงทุนอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างโอกาสจากการลงทุนท่ามกลางความผันผวนของตลาด
งานสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของกรุงศรี และพันธมิตร เริ่มต้นด้วยภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดย ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ และผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สรุปใจความสำคัญว่า เศรษฐกิจโลกปี 2025 มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าปีก่อนหน้า แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนเกิด COVID โดยมีปัจจัยสำคัญประกอบไปด้วย 1) Artificial Intelligence (AI) 2) Policies ทั้งนโยบายการคลังและการเงิน และ 3) นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ การขยายตัวของเศรษฐกิจเริ่มชะลอความร้อนแรงลง สะท้อนผ่านการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่มีอัตราการเติบโตลดลง โดยประเด็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามคือการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และอัตราการยื่นขอล้มละลายที่มากสุดในรอบ 14 ปี ขณะที่นโยบายของทรัมป์ยังไม่ได้ชัดเจนมากนัก จึงมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED จะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 2-3 ครั้ง อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ หากพิจารณาในแง่ของนโยบายการขึ้นกำแพงภาษี วิจัยกรุงศรีประเมินว่าสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุด ขณะที่ผลกระทบต่อไทยมีทั้งเชิงบวกอย่างอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ และเชิงลบอย่างกลุ่มเคมีภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม มองว่าการดำเนินนโยบายด้านภาษีเป็นเครื่องมือกดดันต่างประเทศ โดยคาดหวังการเจรจาประเด็นด้านอื่นๆ มากกว่า
ขณะที่ยุโรปกำลังเผชิญปัญหาเรื่องต้นทุนพลังงานที่สูงและการเมืองภายใน ภาพรวมเศรษฐกิจจึงยังคงมีความท้าทาย และคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB จะมีแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ด้านญี่ปุ่นมีปัจจัยหนุนหลักจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคบริการอื่นๆ ขณะที่ภาคการผลิตและการส่งออกยังคงอ่อนแอ และมองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ จะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้
สำหรับเศรษฐกิจจีนยังค่อนข้างเปราะบาง โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เผชิญปัญหาอุปสงค์อ่อนแอ ขณะที่ภาคบริการเป็นส่วนสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้รัฐบาลยังคงมีความระมัดระวังในการใช้มาตรการช่วยเหลือแม้ภาคอสังหาฯ จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาแล้วก็ตาม อีกทั้งประเด็นการค้าระหว่างประเทศยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจจีน
ในส่วนของเศรษฐกิจไทย คาดว่าปี 2025 จะดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหนุนหลักจาก 1) การใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่างบรวมและการลงทุนจะเติบโต 4.2% และ 26.5% ตามลำดับ และจะเป็นปีที่ขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.5% 2) ภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง 3) ตัวเลขการขอรับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจาก BOI มีสัญญาณที่ดีในหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น Smart Electronic, Digital และ Next-Gen Automotive อย่างไรก็ตามปัจจัยกดดันหลักที่สำคัญคือ 1) นโยบายด้านการค้าของทรัมป์ ซึ่งจะกระทบกับภาคการส่งออก 2) ปัจจัยเชิงโครงสร้าง อย่างปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งกระทบกับการใช้จ่ายและการลงทุน
PIMCO มองการลงทุนตราสารหนี้ปี 2025 ผันผวนแต่มีโอกาส
ด้าน Ms. Catherine Tong, Vice President, Product Strategist, PIMCO มองว่าตลาดตราสารหนี้ในปี 2025 ยังคงผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยมี 4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้มีความน่าสนใจ ประกอบด้วย 1) ภาวะอัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอดีต 2) จากข้อมูลในพบว่า หากนักลงทุนเริ่มลงทุนในช่วงที่ Yield อยู่ในระดับสูง จะมีความสัมพันธ์ราว 94% กับผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับในอีก 5 ปีข้างหน้า 3) ตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดเงิน สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนปรับเปลี่ยนมาลงทุนตราสารหนี้มากขึ้น และ 4) ความสามารถในการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจกระทบความผันผวนในปี 2025 จะมีทั้งเรื่องของนโยบายของสหรัฐฯ ที่ยังไม่แน่นอนอาจจะนำไปสู่ความผันผวน อีกทั้งข้อมูลยังระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะผ่านจุดพีคแล้ว ขณะที่เงินเฟ้อจะชะลอลง เพราะตลาดแรงงานเริ่มผ่อนคลาย และแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของ FED ที่น่าจะลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง
ในแง่ของความเสี่ยงจากนโยบายทรัมป์ 2.0 คาดว่าจะมีผลกระทบ 5 ด้าน ได้แก่ 1) Deglobalization ซึ่งนโยบายด้านภาษีจะกระทบกับเงินเฟ้อราว 0.8% ซึ่งอาจทำให้การลดอัตราดอกเบี้ยเป็นไปได้ช้าลง อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีอาจกระทบกับการเติบโตของ GDP โดยในกรณีนี้อาจทำให้ FED ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเร็วหรือมากขึ้น 2) Deportation ซึ่งมีโอกาสทำให้ตลาดแรงงานกลับมาตึงตัว 3) Deficit การใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และอาจขาดดุลมากขึ้น 4) Department of Government Efficiency (DOGE) อาจไม่ได้มีบทบาทมากนักกับการขาดดุลของรัฐบาล 5) Deregulation อาจทำให้เกิดการทำ M&A มากขึ้น และจะส่งผลให้มีการออกตราสารหนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ PIMCO มองว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนด้านการเมือง และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลง อีกทั้งยังสามารถรับผลตอบแทนที่สูงในขณะที่ความเสี่ยงไม่ได้สูงมากนัก นอกจากนี้ หาก FED ลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดจะเป็นแรงหนุนให้ผู้ลงทุนได้รับจาก Capital Gain อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ความผันผวนสูงจึงเป็นปัจจัยเหมาะสมอย่างมากในการเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีการบริหารแบบ Active ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถใช้โอกาสจากความผันผวนในการคัดเลือกตราสารที่ดี ซึ่งผลตอบแทนปัจจุบันในพอร์ตใกล้เคียงระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ อีกทั้งยังมีทีมและเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการและคัดเลือกลงทุนตราสารที่ดีให้กับพอร์ตได้ โดยได้ยกตัวอย่างกลยุทธ์การบริหารแบบ Active ของ PIMCO ปัจจุบัน ที่อาศัยจังหวะช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้นในการเพิ่มตราสารหนี้ระยะยาวที่จะได้รับประโยชน์ในช่วงที่ FED ลดอัตราดอกเบี้ย อีกทั้งมีการเพิ่มพันธบัตรป้องกันเงินเฟ้อ (TIPs) และ Agency MBS ซึ่งมี Valuation ค่อนข้างถูก เป็นต้น
นโยบายทรัมป์ 2.0 เงินเฟ้อ และ AI: ความท้าทายใหม่สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ
Mr. David Wong, Senior Investment Strategist and Head-Asia Business Development, Equities, AllianceBernstein (Singapore) Ltd. ได้แบ่งกรอบการวิเคราะห์สำหรับการลงทุนในปี 2025 เป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) นโยบายทรัมป์ 2.0 ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะเป็นปัจจัยบวกหรือลบต่อการลงทุน อย่างเช่นนโยบายด้านภาษีที่อาจเป็นเครื่องมือในการต่อรอง ขณะที่ผลตอบแทนของตลาดหุ้นก็อาจเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความสามารถในการบริหารของทรัมป์ด้วยเช่นกัน 2) เงินเฟ้อที่อาจกลับมาจากการขึ้นกำแพงภาษี และ 3) AI ที่ทำให้อุตสาหกรรมมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น โดยได้แบ่งปันมุมมองที่มีต่อหุ้นสหรัฐฯ ว่าตลาดหุ้นมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจริงค่อนข้างต่ำ สะท้อนผ่านการเติบโตของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในปี 2024 และปี 2025 ที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องท่ามกลางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ การเติบโตของผลประกอบการส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม Mag7 อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการเติบโตของกำไรจะกระจายอยู่ในกลุ่มอื่นๆ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้ต่อ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจดูเหมือนมี Valuation ที่แพง แต่ส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม Mag7 ซึ่งหากแยกกลุ่มนี้ออกไป ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะมี Valuation ที่ไม่สูงมากนัก นอกจากนี้ยังมีอีกหลายภาคอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในแง่ของ Valuation ที่ไม่แพง และมีคุณภาพดี เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมและสุขภาพ ซึ่งมีการเติบโตที่น่าจับตามองและมีโอกาสการลงทุนที่คุ้มค่า โดยผลตอบแทนที่โดดเด่นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งมาจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่กลายมาเป็นสัดส่วนหลักในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตของกระแสเงินสดโดดเด่น รวมทั้งการซื้อหุ้นคืนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นได้ต่อ
สำหรับจังหวะการลงทุนในปัจจุบัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีโอกาสที่น่าสนใจ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม Non-Big Tech อย่างอุตสาหกรรมและสุขภาพ ที่มีการเติบโตที่ดีและ Valuation ที่ไม่แพง ขณะเดียวกัน การเข้ามาของ AI จากจีนทำให้การลงทุนจำเป็นต้องกระจายน้ำหนักไปในกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มเทคโนโลยี หรือกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากต้นทุน AI ที่อาจลดลงในอนาคต
ทั้งนี้ ได้แนะนำกองทุน AB American Growth ซึ่งมีการคัดเลือกหุ้นแบบ Bottom-Up โดยมีจุดเด่น 3 ประการ ได้แก่ 1) กองทุนจะเฟ้นหาหุ้นในสหรัฐฯ ที่มีศักยภาพในการทำกำไรและโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน 2) ทีมบริหารมีประสบการณ์ยาวนานตั้งแต่ปี 2012 โดยหุ้นในพอร์ตมีอัตราการเติบโตของกำไรเฉลี่ย 16% ต่อปี 3) มีความ Active ในการปรับพอร์ต สะท้อนผ่านกลุ่มอุตสาหกรรมในพอร์ตที่มีการ Underweight ในกลุ่มเทคโนโลยี และ Overweight ในกลุ่ม Healthcare และ Communication Services ที่กองทุนมองว่ามีโอกาสเติบโตในระยะยาว
กรุงศรี มองหุ้นนอกกลุ่ม Mag7 เติบโตดี พร้อมแนะนำการลงทุนแบบ Active ในภาวะผันผวน
นายวิรัตน์ วิทยศรีธาดา, CFA ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์และที่ปรึกษาการลงทุน และหัวหน้าทีม Krungsri Investment Intelligence ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองภาพประเด็นที่ต้องติดตามสำหรับการลงทุนในปี 2025 โดยประเด็นแรก คือ การเปลี่ยนแปลงท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินของ FED หากนโยบายภาษีของทรัมป์ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงมาค่อนข้างมาก อีกทั้งตลาดยังคงให้น้ำหนักการลดอัตราดอกเบี้ยของ FED ปีนี้ 1-2 ครั้ง ประเด็นที่สอง คือ เรื่องการเติบโตของ GDP โดย GDPNow ของสหรัฐฯ ยังบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเติบโตได้ดี สอดคล้องกับคาดการณ์โอกาสเกิด Recession ที่ลดต่ำลงเหลือเพียง 20% ประเด็นที่สาม คือ เรื่องนโยบายการค้าของทรัมป์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาวะตลาดการลงทุนต่อเนื่อง พร้อมชี้ให้เห็นว่านโยบายการขึ้นภาษีจะกระทบกับเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เองเป็นหลัก โดยมองว่านโยบายด้านภาษีเป็นเครื่องมือในการต่อรองเพื่อจุดประสงค์อื่น
ในด้านคำแนะนำการลงทุนตราสารหนี้ มองจังหวะที่ Yield ปรับตัวขึ้นจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน ขณะที่จังหวะที่ Yield ลงเป็นจังหวะที่ดีในการทำกำไร โดย PIMCO มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นแม้ในช่วงปีก่อนที่ตลาดผันผวน ผ่านการบริหารพอร์ตแบบเชิงรุกและยืดหยุ่น ซึ่งปรับพอร์ตทั้งในแง่ของอายุตราสารและคุณภาพสินทรัพย์ตามสภาวะตลาดที่เหมาะสม
ด้านการลงทุนในหุ้น มี 3 ประเด็นหนุน คือ 1) ผลประกอบการไตรมาส 4/2024 ที่ยังคงแข็งแกร่ง 2) การผ่อนคลายของนโยบายการเงินของ FED และ 3) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตามประเด็นที่ต้องติดตามคือ Valuation ที่อยู่ในระดับสูงที่อาจทำให้ตลาดผันผวนได้ ทั้งนี้ นายวิรัตน์ ได้เสริมมุมมองถัดไปว่าการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนในอนาคตจะไปเน้นกลุ่มที่ไม่ใช่ Mag7 มากขึ้น พร้อมทั้งระบุว่า การเข้ามาของ AI จากจีนอาจมีผลกระทบต่อมูลค่าเงินลงทุนในด้าน AI ในอนาคต โดยจะเห็นการกระจายผลตอบแทนที่มากขึ้นในแต่ละอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ด้วยสภาวะความผันผวนที่อาจเพิ่มขึ้น จึงมีมุมมองว่า ควรพิจารณากองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนที่บริหารด้วยความ Active มากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถรับชมย้อนหลังได้ผ่านช่องทาง YouTube: Krungsri Simple หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ KRUNGSRI PRIVATE BANKING หรือ KRUNGSRI EXCLUSIVE โทร 02-296-5566 LINE: @KrungsriExclusive