
นางสาวกาญจนา ภูพิพัฒน์ผล รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะการจัดตั้งศูนย์พัฒนาผู้สูงอายุของ กทม. รวมถึงการจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สพส. ได้ดำเนินการตามนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง ซึ่งจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุที่ครอบคลุมมิติต่าง ๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ จัดบริการฝึกอาชีพระยะสั้นสำหรับผู้สูงอายุ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ตามความสนใจและความสามารถเพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่ายในครอบครัว ประกอบด้วย หลักสูตรบาริสต้า หลักสูตรเบเกอรี่ หลักสูตรโหราศาสตร์ การแปรรูปสมุนไพร กิจกรรม Art Paint กิจกรรมศิลปะประดิษฐ์ ด้านสุขภาพ จัดบริการด้านกายภาพบำบัด ธาราบำบัด และส่งเสริมการออกกำลังกายประจำวัน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ได้รับการพัฒนาทักษะ การดูแลตนเองในการใช้ชีวิตประจำวัน ด้านสังคม จัดบริการในรูปแบบสโมสรผู้สูงอายุ (Day Center) ประกอบด้วย กิจกรรมพัฒนาร่างกาย ส่งเสริมสุขภาพ รำไทเก๊ก ลีลาศ ดนตรีไทย ร้องเพลง และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น กิจกรรมปีใหม่ กิจกรรมวันสงกรานต์ กิจกรรมทัศนศึกษา ดูงานการร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายที่มาทำกิจกรรมต่าง ๆ กับผู้สูงอายุ และด้านวิชาการ จัดบริการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสื่อสารออนไลน์ การรู้เท่าทันสื่อต่าง ๆ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการดูแลผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ สพส. เห็นพ้องกับข้อเสนอการจัดตั้งศูนย์พัฒนาผู้สูงอายุของ กทม. และสนับสนุนการจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ภารกิจการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุในการจัดตั้งศูนย์ รวมถึงการกำหนดนโยบาย หรือผลักดันให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนการดำเนินงานจากทุกภาคส่วน เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ครอบคลุมในทุกมิติอย่างชัดเจนมากขึ้น
นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กทม. กล่าวว่า ปัจจุบันมีศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) ศูนย์นันทนาการ 34 แห่ง และศูนย์กีฬา 14 แห่ง ที่จัดกิจกรรมนันทนาการหลากหลายสำหรับการส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ อาทิ การออกกำลังกายในน้ำ กิจกรรมขับร้อง ลีลาศ โยคะ ไทเก๊ก ไม้พลอง ไลน์แดนซ์ ศิลปะ และนาฏศิลป์ ซึ่งมีการจัดอย่างต่อเนื่องตลอดปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า กทม. ดูแลผู้สูงอายุตามแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุและนโยบายของกรุงเทพมหานคร โดยสนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุจัดตั้งเป็นชมรมผู้สูงอายุ ดำเนินกิจกรรมตามความต้องการของสมาชิก เช่น ความรู้ด้านสุขภาพ การออกกำลังกาย กิจกรรมนันทนาการ งานประดิษฐ์ และฝึกอาชีพ โดยมีหน่วยงานของ กทม. สนับสนุนวิทยากร ได้แก่ ความรู้เรื่องสุขภาพ วิทยากรจาก สนอ. และสำนักการแพทย์ ออกกำลังกาย ดนตรี นันทนาการ วิทยากรจาก สวท. การฝึกอาชีพและจำหน่ายสินค้า วิทยากรจาก สพส. ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีชมรมผู้สูงอายุ จำนวน 489 ชมรม
นอกจากนี้ กทม. ยังส่งเสริมให้ชมรมผู้สูงอายุทำกิจกรรมการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเชิงป้องกัน (Preventive Long-Term Care : PLC) โดยการอบรมแกนนำผู้สูงอายุให้มีบทบาทถ่ายทอดความรู้และทำกิจกรรม PLC ในชมรม เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสมรรถภาพทางกายและความคิดความจำที่ดี ป้องกันการหกล้มและภาวะสมองเสื่อม ลดการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง โดยจัดทำเป็นโครงการขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครในระดับเขต ขณะเดียวกันยังได้ดำเนินการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเชิงรุก โดยศูนย์บริการสาธารณสุขให้บริการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุตามนโยบายตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน บริการตรวจคัดกรองความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด ตับ ไต เอกซเรย์ปอด และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อีกทั้งยังให้บริการเยี่ยมบ้านต่อเนื่องในรายที่มีภาวะพึ่งพิงด้วย