เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 เวทีขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ข่าวบันเทิง Tuesday February 25, 2025 09:53 —ThaiPR.net

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 เวทีขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ในช่วงที่กระแสวัฒนธรรมโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัดและพรมแดน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็น "ศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภูมิภาคอาเซียน" โดยกรุงเทพมหานครได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภูมิภาค เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 (Bangkok Design Week 2025) ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA นับเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ โดยตั้งแต่ปี 2018 - 2024 ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 3,198 ล้านบาท และมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 2.51 ล้านคน นอกจากนี้ยังเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนกรุงเทพฯ ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในฐานะเครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN) สาขาการออกแบบ (UCCN - Bangkok City of Design)

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จึงไม่เพียงเป็นเวทีสำหรับนักออกแบบและนักสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย เพื่อยกระดับประเทศในทุกด้าน นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยเชื่อมโยงนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ และนักลงทุนจากทั่วโลก พร้อมทั้งส่งเสริมการผสมผสานทุนทางวัฒนธรรมเข้ากับนวัตกรรมสมัยใหม่ รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับนานาชาติ ที่ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาจะมาร่วมสร้างเครือข่าย และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เติบโตไปอีกขั้น

นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า "เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ไม่เพียงเป็นเวทีแสดงผลงานสร้างสรรค์ แต่ยังสะท้อนถึงพลังในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ระดับสากลได้อย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลมุ่งมั่นผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อย่างจริงจังผ่านการสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง และสนับสนุนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์หลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, เฟสติวัล (เทศกาล), ภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์, ดนตรี, แฟชั่น, ภาพยนตร์, ศิลปะการแสดง, เกม, หนังสือ ฯลฯ รวมถึงการจัดงานเทศกาลทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยสู่สายตาชาวโลก ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ ส่งเสริมการส่งออก และการท่องเที่ยว การพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของศิลปะหรือความบันเทิง แต่ยังเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่จะช่วยให้ประเทศไทยแข่งขันได้ในระดับโลก ดังนั้นเราจึงพร้อมจุดประกาย 'พลังบวกแห่งวัฒนธรรมสร้างสรรค์' เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน"

ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "CEA ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล 'เศรษฐกิจสร้างสรรค์' ของประเทศ ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความรู้ นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มความโดดเด่นให้แก่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ (Creative Products) ทั้งที่เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ซึ่งสนับสนุนความสามารถทางการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจใหม่ที่สอดคล้องกับการยกระดับอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดย CEA มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล เราเชื่อว่าเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ไม่เพียงสร้างบรรยากาศสร้างสรรค์ให้แก่เมืองและจัดแสดงงานออกแบบเท่านั้น แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างแรงบันดาลใจ และส่งเสริมการนำพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์มาแก้ไขปัญหาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมือง เราทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา เครือข่ายนักสร้างสรรค์และผู้ประกอบการ รวมทั้งพันธมิตรทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ดึงดูดนักลงทุนและนักสร้างสรรค์จากทั่วโลก พร้อมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยให้เติบโตได้อย่างเป็นรูปธรรม"

"เทศกาลในปีนี้ CEA ตั้งใจที่จะสะท้อนให้เห็นว่างานออกแบบสามารถมีบทบาทในทุกมิติได้จริง ดังนั้น ธีม "Design Up+Rising: ออกแบบพร้อมบวก+" จึงเป็นทั้งการทำจริงและตั้งคำถามให้ทุกคนคิดว่างานออกแบบจะช่วยยกระดับกรุงเทพฯ ในด้านใดได้บ้าง เทศกาลฯ จัดแสดงงานที่นำเสนอหลายมิติ เช่น งานที่สะท้อนความเป็นเมืองแห่งการออกแบบ (The Districts: Bangkok City of Design), งานที่แสดงศักยภาพของนักสร้างสรรค์ไทย (Creative Talents: Build Up the Rising Star), งานที่เปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับนักสร้างสรรค์ไทย (Design Business: New Networking Opportunities) และงานที่นำเสนอศักยภาพของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เพื่อให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากขึ้น (Soft Power Industries: The Creative Culture Industry)"

สำหรับโปรแกรมสำคัญที่สะท้อนพลังซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ใน 4 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลัก ได้แก่ ดนตรีและศิลปะการแสดง (Music & Performing), เทศกาล (Festival), การสร้างสรรค์คอนเทนต์ (Content Creator) และภาพยนตร์ (Film) อีกทั้งยังมีการเปิดเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการแสดงศักยภาพของนักสร้างสรรค์อีกด้วย เช่น

  • มหกรรมผสานพลังสร้างสรรค์ สู่เทศกาลระดับโลก (Festival Creator Initiative)

นับเป็นก้าวสำคัญของวงการสร้างสรรค์ไทยกับงาน "มหกรรมส่งเสริมนักสร้างสรรค์เทศกาล" (Festival Creator Initiative) ซึ่งจัดขึ้นภายใต้เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA, สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) และพันธมิตรระดับนานาชาติ เช่น สถานทูตเนเธอร์แลนด์, ศูนย์มิตรเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, บริษัท ดีไซนด์ คิท จำกัด รวมถึงเครือข่ายนักสร้างสรรค์ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่มาเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้พร้อมสร้างเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ในหัวข้อ "บทบาทของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และบทบาทต่อการสร้างเทศกาลในพื้นที่สาธารณะ"

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงานนี้ คือการบรรยายพิเศษโดย Winy Maas ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทสถาปนิกและงานออกแบบ MVRDV จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีประสบการณ์ในการออกแบบงานพาวิลเลียนและสถาปัตยกรรมบนพื้นที่สาธารณะในเทศกาลต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมาเผยวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ "Festival, Civic Space, and Architecture" ที่สะท้อนบทบาทของเทศกาลและศิลปะในการพลิกโฉมพื้นที่เมืองให้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

และอีกหนึ่งเวทีสำคัญคือ "ASEAN Projection Mapping Conference" ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้าน Projection Mapping กว่า 10 ท่านจากทั่วเอเชียและยุโรป มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวทางการใช้เทคโนโลยีนี้กับพื้นที่สาธารณะของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นศักยภาพของ Projection Mapping ในการสร้างประสบการณ์ทางศิลปะระดับเมือง ที่สามารถพลิกโฉมย่าน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ตลอดจนสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ

โปรแกรมนี้จึงนับได้ว่าเป็นการมุ่งเน้นการพัฒนาผู้จัดเทศกาลในด้านต่าง ๆ (Festival Creator) ให้สามารถนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสู่การจัดเทศกาลที่มีอัตลักษณ์ใหม่ และสามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับสากล โดยเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด เครื่องมือ และวิธีการนำเสนอเรื่องราวของเทศกาลในรูปแบบสร้างสรรค์ พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับเทศกาลไทยสู่กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป

  • Boundless Pleasure - ศิลปะไร้ขอบเขต: เมื่อแสงและเงาเล่าผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

"Boundless Pleasure" คือหนึ่งในโปรแกรมไฮไลต์ของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 ที่นำศิลปะ Projection Mapping มาสร้างมิติใหม่ให้แก่สถาปัตยกรรมไทย โดยความร่วมมือระหว่าง DecideKit and Friends, Thai Immersive Media Creator Association (TIMCA) และพันธมิตรสำคัญ เช่น Epson Thailand, ซอสภูเขาทอง, PM Center และ Mahajak งานนี้เปลี่ยน "อาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร" ให้กลายเป็นเวทีแสดงศิลปะแสงและเงา โดยถ่ายทอดเรื่องราวของวัฒนธรรมไทยในมุมมองที่ร่วมสมัย เชื่อมโยงอดีตเข้ากับอนาคต นับเป็นอีกก้าวสำคัญของเทศกาลฯ ที่ตลอด 8 ปีของการจัดงาน ได้ผลักดัน Projection Mapping ให้เป็นส่วนหนึ่งของเมือง ด้วยการใช้เทคโนโลยีเลเซอร์โปรเจ็กเตอร์ฉายภาพไปยังสถาปัตยกรรมสำคัญในย่านที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เปิดโอกาสให้พื้นที่ที่เคยถูกหลงลืมกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง

"Boundless Pleasure" แสดงให้เห็นความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยที่เป็นจุดรวมตัวของ Content Creator ด้าน Projection Mapping จากทั่วโลก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม แคนาดา และฝรั่งเศส พร้อมด้วยผลงานจากนักศึกษาไทยที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานศิลปะบนพื้นที่ประวัติศาสตร์ ช่วยพลิกฟื้นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ทั้งยังสะท้อนศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางของศิลปะแสงและสื่อดิจิทัลในภูมิภาค

  • Music Makes Senses - ดนตรีมีรส: เมื่อดนตรีและอาหารสร้างประสบการณ์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย

"Music Makes Senses - ดนตรีมีรส" โดย สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา คือการผสมผสานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านดนตรีและอาหาร ที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนจากวัฒนธรรมที่หลากหลายให้เข้าถึงรากลึกของเอกลักษณ์ไทย โดยสร้างประสบการณ์ที่เชื่อมโยงประสาทสัมผัสทั้งห้า ให้ดื่มด่ำไปกับดนตรีคลาสสิกและร่วมสมัย หลอมรวมเข้ากับศิลปะอาหารที่รังสรรค์โดย เชฟเนตรอำไพ สาระโกเศศ ผ่าน 8 รสชาติอาหารไทยดั้งเดิม ได้แก่ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด จืด ฝาด และขม สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นจากทั่วประเทศ พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ดื่มด่ำบรรยากาศของอาคารคีตราชนครินทร์ สถาปัตยกรรมเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ทำให้ศิลปะแห่งเสียงและรสสัมผัสเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์

โปรแกรมนี้จึงไม่เพียงมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ แต่ยังสะท้อนศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยในการก้าวข้ามข้อจำกัดของแต่ละศาสตร์ และบูรณาการ "ข้ามศาสตร์" เพื่อต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรม พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ได้อย่างมีมิติและน่าสนใจยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมที่น่าสนใจในการสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย อย่าง Creators 2035 - Globalike Thai Content โดย Cloud 11 ซึ่งมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยให้ก้าวสู่เวทีโลก ด้วยการผสมผสาน "วัฒนธรรมไทยเข้ากับเทคโนโลยีสื่อดิจิทัลและแพลตฟอร์มสตรีมมิง" เพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ทรงพลังและเข้าถึงผู้ชมทั่วโลก ขณะเดียวกันยังสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล โดยคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และรากเหง้าของความเป็นไทย และถ่ายทอดผ่านมุมมองร่วมสมัยที่ทำให้วัฒนธรรมไทยน่าสนใจและเข้าถึงง่าย นับเป็นอีกหนึ่งโปรแกรมที่ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้สามารถเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงผู้ชมจากทั่วโลกได้อย่างทรงพลัง โดยไม่สูญเสียแก่นแท้แห่งความเป็นไทย

และอีกหนึ่งโปรแกรมที่น่าจับตามอง คือ "เดินดูโลกับคนทำโล" โดย THEPLOCATION ซึ่งเปิดมุมมองใหม่ให้กับซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ผ่านการสนับสนุนการถ่ายทำในประเทศไทย โดยนำเสนอ สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์และโฆษณาที่มีศักยภาพระดับสากล ณ ห้องสมุดทำเล ย่านตลาดน้อย ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สร้างภาพยนตร์และโฆษณาทั่วโลกได้ค้นพบ "ฉากหลังที่สะท้อนมรดกทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ และภูมิประเทศที่หลากหลาย" ของไทย โปรแกรมนี้มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก โดยสะท้อนให้เห็นว่าทุกมุมของประเทศไทยล้วนมีเรื่องราวที่รอการค้นพบที่แปลกใหม่และน่าจดจำ ดึงดูดสายตาผู้ชมทั่วโลกให้มาสัมผัสเสน่ห์ของประเทศผ่านเลนส์ภาพยนตร์ ทั้งยังตอกย้ำศักยภาพของไทยในฐานะศูนย์กลางการถ่ายทำระดับนานาชาติ

โปรแกรมต่าง ๆ ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยมีศักยภาพในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยให้เติบโตทั้งในระดับประเทศและสากล โดยไม่เพียงนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังขับเคลื่อนเมืองและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ผ่านการหลอมรวมมรดกทางวัฒนธรรมเข้ากับนวัตกรรมที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล นอกจากนี้ยังเปิดทางให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางซอฟต์พาวเวอร์ของเอเชีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ