
รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด รักษาการในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายสถานศึกษามีความกังวลถึงสถานการณ์การเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมระดับชั้น ม. 6 ลดลง เนื่องจากอัตราการเกิด ปัญหาสภาพเศรษฐกิจ ในส่วนของ มทร.ธัญบุรี มีการติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด พบว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว โดยในปีการศึกษา 2567 มหาวิทยาลัยมีแผนรับนักศึกษา 6,462 คน สมัคร 28,711 คน ชำระเงินค่าสมัคร 24,619 คน ลงทะเบียนเรียน 7,796 คน ซึ่งสามารถรับได้เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ และในปีการศึกษา 2568 มีแผนที่จะรับนักศึกษา 6,896 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568) ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัคร ทั้งนี้การที่มหาวิทยาลัยได้รับการตอบรับจากนักศึกษา เพราะ มทร. ธัญบุรี มีการประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์ความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีการปรับปรุงหลักสูตรและเปิดสาขาวิชาใหม่ให้ตรงกับอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์กับยุทธศาสตร์ของประเทศ ในการพัฒนาประเทศในทุกด้าน
นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของนักศึกษามทร.ธัญบุรียังมาจากกลุ่มคนทำงานซึ่งอยู่ในสถานประกอบการที่มีความร่วมมือกับ มทร.ธัญบุรี ที่ยังไม่จบปริญญาตรี แต่ต้องการศึกษาต่อเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ซึ่งกลุ่มนี้จะเรียนในหลักสูตรต่อเนื่องและการเทียบโอนหน่วยกิต โดยหลักสูตรต่อเนื่องจะเรียนในวันหยุด ส่วนหลักสูตรเทียบโอนหน่วยกิตจะเรียนวันทำงานช่วงเย็นและวันหยุด ซึ่งขึ้นอยู่กับสาขาวิชาที่นักศึกษาเลือกเรียน และกลุ่มที่ต้องการเรียนแบบธนาคารหน่วยกิต มีผู้สนใจขอข้อมูลเพิ่มขึ้น เพราะมีความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลา รวมถึงสถานประกอบการยังต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่จบระดับปริญญาโท-เอก ทำให้จำนวนศึกษากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ในส่วนนักศึกษาต่างชาติปัจจุบันมหาวิทยาลัยมี จำนวน 379 คน เช่น จีน อินโดนีเซีย รวันดา อินเดีย ไนจีเรีย ไต้หวัน เยอรมัน ฝรั่งเศส เป็นต้น โดยมหาวิทยาลัยมีเกณฑ์คัดเลือกนักศึกษาต่างชาติที่จะเข้าศึกษาต่ออย่างเข้มงวด
"ทั้งนี้ ตนอยากฝากถึงหลายสถาบันที่มีความกังวลจำนวนักศึกษาเข้าใหม่ที่ลดลง ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องเรียนรู้การปรับตัว เพราะเทคโนโลยีมีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งยุทธศาสตร์ของประเทศมีการปรับเปลี่ยนตามเทคโนโลยี ดังนั้น หลักสูตรการเรียนการสอนจะต้องสอดรับและตอบโจทย์ รวมถึงต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อพัฒนาบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ และสิ่งสำคัญจะต้องมีการพัฒนาคณาจารย์ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับนักศึกษาในเจนเนอเรชั่นปัจจุบันด้วยเช่นกัน"