ไอบีเอ็มร่วมแก้วิกฤติข้าวขาดแคลน ด้วยพลังประมวลผลระดับ “ซูเปอร์คอมพิวเตอร์”

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday May 21, 2008 11:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ระบบกริดเพื่อมนุษยธรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ใช้คอมพิวเตอร์ที่ลงทะเบียน 1 ล้านเครื่อง สามารถดำเนินโครงการให้เสร็จภายใน 2 ปี แทนที่จะต้องใช้เวลา 200 ปี
ในขณะที่ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารกันอย่างกว้างขวาง ไอบีเอ็มและคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันจึงได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการใหม่เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีความแข็งแรงมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตและสารอาหาร
ด้วยพลังในการประมวลผลที่สูงถึง 167 เทราฟลอปส์ (teraflops) ซึ่งเท่ากับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงที่สุดในโลก 3 อันดับแรก โครงการ World Community Grid ของไอบีเอ็มจะใช้ประโยชน์จากพลังการประมวลผลที่ไม่ได้ใช้และที่ได้รับบริจาคจากเครื่องพีซีเกือบ 1 ล้านเครื่อง เพื่อรองรับโครงการใหม่ "Nutritious Rice for the World" ซึ่งจะศึกษาข้าวที่ระดับอะตอม แล้วผสานเข้ากับเทคนิคดั้งเดิมในการผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งเกษตรกรได้ใช้เทคนิคเหล่านี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
โครงการดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี ในขณะที่การใช้ระบบรุ่นเก่าจะต้องใช้เวลากว่า 200 ปีในการประมวลผลข้อมูล
โรเบิร์ต ซีกเลอร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับวิวัฒนาการ 3 ด้านที่เกิดขึ้นควบคู่กันไป นั่นคือ ชีววิทยาระดับโมเลกุลและพันธุกรรม พลังการประมวลผลและพื้นที่ความจุสำหรับการจัดเก็บข้อมูล และการสื่อสาร วิวัฒนาการด้านการประมวลผลช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสามารถแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก โดยอาศัยการประมวลผลในรูปแบบของชุมชนในลักษณะเรียลไทม์ แม้ว่าจะไม่มีทางออกที่รับรองผลได้อย่างแน่ชัด แต่เราสามารถปรับปรุงการผลิตข้าวโดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ และประชาคมโลกจำเป็นที่จะต้องลงทุนอย่างจริงจังทั้งในวันนี้และวันหน้า”
World Community Grid จะรันโปรแกรมแบบจำลอง 3 มิติ ซึ่งสร้างขึ้นโดยนักชีววิทยาด้านการประมวลผลคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เพื่อศึกษาโครงสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของข้าว การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างนับว่าจำเป็นอย่างมากสำหรับการระบุหน้าที่ของโปรตีนดังกล่าว ทั้งยังช่วยให้นักวิจัยสามารถระบุได้ว่าโปรตีนชนิดใดจะช่วยเพิ่มผลผลิต ป้องกันแมลงศัตรูพืช ต้านโรค หรือเพิ่มสารอาหาร และในท้ายที่สุด โครงการนี้จะจัดทำแผนผังที่ใหญ่ที่สุดและครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุดเกี่ยวกับโปรตีนข้าวและหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรและผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรสามารถระบุได้ว่าควรจะเลือกข้าวพันธุ์ใดสำหรับการผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อปรับปรุงผลผลิต
ดร. แรม ซามูดราล่า รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า “ปัญหาก็คือ เราจะต้องศึกษาโครงสร้างโปรตีนที่แตกต่างกัน 30,000 ถึง 60,000 โครงสร้าง ดังนั้นถ้าเราใช้วิธีการทดลองแบบเก่าภายในห้องปฏิบัติการเพื่อระบุโครงสร้างโดยละเอียดและหน้าที่ของโปรตีนสำคัญๆ ก็จะต้องใช้เวลาหลายทศวรรษเลยทีเดียว การรันโปรแกรมซอฟต์แวร์ของเราบนระบบ World Community Grid จะช่วยลดระยะเวลาในการดำเนินการจาก 200 ปีให้เหลือเพียง 2 ปีเท่านั้น”
โครงการนี้ใช้เงินทุนเริ่มต้น 2 ล้านดอลลาร์จากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation) โดยจะช่วยให้ประเทศผู้ผลิตข้าวสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยจะสามารถค้นหาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับการผสมข้ามสายพันธุ์ และพัฒนาข้าวพันธุ์ผสมที่ทนทานต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป
คุณธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “โครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรทั่วโลกสามารถปรับปรุงผลผลิตและแก้ไขภาวะอดอยากในบางประเทศ ผมจึงอยากจะขอให้คนไทยให้ความร่วมมือกับโครงการนี้ ด้วยการบริจาคช่วงเวลาที่คอมพิวเตอร์ไม่ได้ใช้งาน เพื่อช่วยให้งานวิจัยสำเร็จลุล่วงรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรและผู้ประสบภาวะขาดแคลนอาหาร”
ใครก็ตามที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ หากต้องการบริจาคช่วงเวลาที่ไม่ได้ใช้งานคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้จะต้องลงทะเบียนที่ www.worldcommunitygrid.org และทำการติดตั้งโปรแกรมซอฟต์แวร์ขนาดเล็กที่ปลอดภัยไว้บนคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไอบีเอ็ม โปรดเยี่ยมชม www.ibm.com หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ โปรดเยี่ยมชม www.irri.org
หากต้องการดูข่าวประชาสัมพันธ์ในรูปแบบวิดีโอ โปรดเยี่ยมชม: http://www.youtube.com/watch?v=pWTc6GHIR1k
ข้อมูลติดต่อ:
กุลวดี เกษมล้นนภา บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
โทร. 02 2734013 อีเมล: kulwade@th.ibm.com
สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ
Adam Barclay
โทร. +63-2-580-5600
อีเมล irrimedia@cgiar.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ