ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2551 ปรับตัวลดลง

ข่าวทั่วไป Wednesday May 21, 2008 12:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ผู้ประกอบการหวั่นต้นทุนการผลิตปรับตัวขึ้น ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2551 ปรับตัวลดลง ย้ำรัฐเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน และสร้างเสถียรภาพทางการเมือง
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนเมษายน 2551 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 660 ตัวอย่าง ครอบคลุม 37 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 78.8 ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2551 ที่อยู่ในระดับ 83.2 ซึ่งความเชื่อมั่นที่ลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากความกังวลของผู้ประกอบการด้านต้นทุนที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะต้นทุนพลังงานที่ราคาน้ำมันดีเซลในเดือนเมษายนปรับเพิ่มขึ้นถึง 10 ครั้ง (ราคาน้ำมันดีเซลปรับราคาเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อลิตร) ประกอบกับได้รับผลกระทบจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่ปรับลดลงทั้งยอดในประเทศและต่างประเทศจากปัจจัยด้านฤดูกาลที่มีจำนวนวันทำงานน้อยลง นอกจากต้นทุนพลังงานแล้ว ต้นทุนวัตถุดิบเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับลดลง ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อผู้ประกอบการอาหาร รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น เหล็ก ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ณ เดือนเมษายน 2551 อยู่ที่ 91.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ ณ เดือนมีนาคม 2551 ที่อยู่ในระดับที่ 89.3 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นในภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ ดัชนีคาดการณ์ไม่ว่าจะเป็นยอดคำสั่งซื้อและยอดขาย ทั้งในและต่างประเทศผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นว่าจะยังคงขยายตัวได้ในระดับที่น่าพอใจ โดยภายในประเทศจะได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และรายได้ของผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดต่างประเทศจะได้รับผลดีจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลายๆ ประเทศที่ยังขยายตัว รวมทั้งปัญหา Sub prime ที่เริ่มมีทิศทางที่คลี่คลายมากขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดอุตสาหกรรมทั้ง 3 ขนาดปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนวันทำงานในเดือนเมษายน 2551 ที่น้อยกว่าเดือนมีนาคม 2551 ทำให้ปริมาณการผลิตและยอดขายของอุตสาหกรรมทั้ง 3 ขนาดลดลง โดย อุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีการปรับตัวลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการสั่งซื้อและจัดส่งวัตถุดิบครั้งละมากๆ ดังนั้นเมื่อต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตมากกว่าอุตสาหกรรมขนาดเล็ก
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามรายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงในทุกภาค โดยได้รับผลกระทบจากปริมาณการผลิตลดลงจากจำนวนวันทำงานที่ลดลง และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ เช่นกัน
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามสัดส่วนของการส่งออกต่อยอดขาย พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ โดยตลาดภายในประเทศนั้นได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางด้านฤดูกาลที่ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่มีการดำเนินการไปแล้วในเดือนมีนาคม ส่วนตลาดต่างประเทศนั้น เกิดจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของไทย
สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2551 พบว่า ปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนยังคงเคลื่อนไหวในระดับที่ไม่กระทบต่อผู้ประกอบการมากนัก เช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลก ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการลดน้อยลง โดยเฉพาะใน 3 เดือนข้างหน้า
ขณะที่ปัจจัยด้านราคาน้ำมันยังคงเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลมากที่สุด รองลงมาคือ ปัจจัยด้านการเมืองที่ยังขาดความสามัคคี และความร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ
ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ภาครัฐควรเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านพลังงานอย่างยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรม ควรเร่งการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ Mega project ควรพิจารณาการตรึงราคาสินค้าพร้อมๆ กับการพิจารณาถึงต้นทุนของผู้ประกอบการด้วย ควรส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และควรเร่งสร้างเสถียรภาพด้านการเมือง เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการลงทุน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ