เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์....ด้วย ‘ดีไซน์’ ทางเลือก & ทางรอด เฟอร์นิเจอร์ไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday May 21, 2008 15:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--iTAP
เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์....ด้วย ‘ดีไซน์’ ทางเลือก & ทางรอด เฟอร์นิเจอร์ไทย
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
สวทช. ร่วมกับ กรมส่งเสริมการส่งออก และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย สนับสนุนผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยงานดีไซน์หวังยกระดับจากผู้รับจ้างผลิตราคาถูก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีดีไซน์ของตนเอง หนีตลาดล่าง หลังถูกคู่แข่งจากจีนและเวียดนามตีตลาด ด้านผู้เชี่ยวชาญจาก สจล. เตือน ผู้ประกอบการต้องมี “ดีไซน์” จึงจะอยู่รอดได้ในยุคการแข่งขันสูง ระบุ การออกแบบที่ดีจะช่วยลดต้นทุนได้จริง
ในปัจจุบันการออกแบบผลิตภัณฑ์มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจ โดยทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น เพราะเรื่องของการออกแบบ หรือ ดีไซน์ จะเป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และมีผลทำให้สินค้านั้นๆ มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของไทยซึ่งกำลังประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจรุมเร้าหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการตลาด เนื่องจากมีคู่แข่งมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ หันมาสนใจยกระดับการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์เพื่อความอยู่รอด
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) จึงได้ร่วมกับ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดกิจกรรมการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์และการตลาดภายใต้ “โครงการจากแนวคิด...สู่แนวค้า : เพื่อพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไทย” เพื่อยกระดับการออกแบบ และเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น โดยให้ความรู้และส่งเสริมผู้ประกอบการนำองค์ความรู้ไปพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการตลาด เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างมั่นคง
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงการจัดกิจกรรมดังกล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนแนวคิดการผลิต จากในอดีตที่ทำธุรกิจแบบรับจ้างผลิต (Original equipment manufacturer หรือ OEM) ปรับเปลี่ยนสู่การผลิตภายใต้รูปแบบของตนเอง (Own Design Manufacturer หรือ ODM) และต่อยอดจนสามารถผลิตภายใต้แบรนด์สินค้าของตนเองได้ (Own Brand Manufacturer หรือ OBM) โดยจะต้องพัฒนาในแบบบูรณาการและต่อเนื่องเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างยั่งยืนด้วยองค์ความรู้ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการผลิต การออกแบบ และการตลาด โดยใช้บุคลากรของบริษัท
รศ.ดร.บุญสนอง รัตนสุนทรากุล อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า การออกแบบหรือดีไซน์ จะช่วยพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความทันสมัยไม่มีข้อจำกัด เปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสมและสถานการณ์ ที่สำคัญ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดีจะช่วยในการลดต้นทุนการผลิตได้จริง (Cost for Design) เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ มีผลกำไรลดลง ผลมาจากค่าแรงงานที่สูงขึ้น ราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องหาวิธีการที่จะลดต้นทุนในทุกๆ ด้าน ซึ่งนั้นก็คือ ความหมายของการดีไซน์ผลิตภัณฑ์
“ การออกแบบฯ ถือว่าเป็นหัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน เปรียบเสมือนการซื้ออนาคต เพราะเมื่อโลกมีบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีเปลี่ยนไป ความต้องการของคนเราก็เปลี่ยนตามไปด้วย และเมื่อพฤติกรรมเปลี่ยนไป การออกแบบดีไซน์ก็ต้องเปลี่ยนตาม การออกแบบผลิตภัณฑ์จึงมีความจำเป็นอย่างมากในโลกปัจจุบัน หากผู้ประกอบการรายใดที่ยังไม่คิดถึงเรื่องของการดีไซน์นั้นถือว่าอันตรายต่อธุรกิจอย่างมาก ” รศ.ดร.บุญสนอง กล่าว
นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่เข้ารับการอบรมในโครงการนี้ ประกอบด้วยฝ่ายผลิต ฝ่ายออกแบบ และผู้บริหาร เพื่อต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง โดยจะได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากผู้เชี่ยวชาญจาก สจล. คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อยกระดับผู้ประกอบการก้าวสู่ ODM อย่างมั่นคง ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักของโครงการฯ
“ ปัจจุบันอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยได้รับผลกระทบจากด้านต่างๆ อาทิ ด้านต้นทุน ด้านการตลาด และการแข่งขันจากต่างประเทศ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยต้องมีการปรับตัวเพื่อการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากต่างชาติ โดยผู้ประกอบการฯจะต้องรู้จุดแข็งด้านการผลิตของตนเอง เพื่อนำมาใช้ในการลดต้นทุนให้ได้ พร้อมทั้งการหานวัตกรรมใหม่ๆ วัสดุใหม่ๆมาใช้ในการผลิต ซึ่งเป็นการหนีคู่แข่งไม่ให้ตามได้ทันและสิ่งที่สำคัญที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยต้องเน้นอีกด้านหนึ่งคือการออกแบบสินค้าให้โดดเด่นและแตกต่างเพื่อให้ ตรงใจกับลูกค้า ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจในโลกปัจจุบัน ”
ด้านนายกมล วงศ์รัตนภัสสร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิมพ์เพ็ญ จำกัด หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า เดิมบริษัทรับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ตามที่ลูกค้าจากต่างประเทศส่งแบบมาให้เท่านั้น ไม่มีแบรนด์และดีไซน์เป็นของตนเอง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งลูกค้าเริ่มต่อรองราคามากขึ้น เพราะมีผู้รับผลิตสินค้าราคาถูกหลายรายมากขึ้นทั้งจากคู่แข่งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน และเวียดนาม จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้าร่วมโครงการกับ iTAP เพื่อต้องการยกระดับแนวทางการผลิตจากการรับจ้างผลิต (OEM) มาเป็น ODM ที่เป็นการผลิตภายใต้รูปแบบของตนเองมากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทยังได้สร้างแบรนด์ขึ้น 2 แบรนด์ คือ PIMPEN และ MOBELLA หลังจากการพัฒนาด้านการออกแบบสินค้าขึ้นเองแล้ว ซึ่งแนวคิดดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเข้ารับการส่งเสริมและสนับสนุนในโครงการติดอาวุธฯ กับ สวทช. ในปีพศ. 2549 และได้เข้าร่วมโครงการจากแนวคิดฯ ในปีพศ. 2550 นอกจากนี้ยังส่งผลให้บริษัทฯ หันกลับมามองตลาดในประเทศมากขึ้น หลังจากที่ได้นำผลิตภัณฑ์ต้นแบบไปแสดงในงาน Thailand International Furniture Fair (TIFF) 2008 ที่จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฎว่านอกจากลูกค้าต่างประเทศแล้ว ยังได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าในประเทศอีกด้วย จนมีออร์เดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงนับว่าโครงการจากแนวคิด...สู่แนวค้าฯ นี้ เป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างมาก ได้ทั้งองค์ความรู้พื้นฐาน การพัฒนาบุคลากร และ การตลาด ซึ่งไม่ใช่เพียงภาคทฤษฎีเท่านั้นแต่ยังเน้นในภาคปฏิบัติด้วย โดยมีการออกแบบร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ที่คอยให้คำแนะนำ ปรับปรุงเรื่องของวัสดุ สี รูปแบบ ทำให้สามารถผลิตและใช้งานได้จริง จนนำไปสู่ตลาดได้จริง
“ การเข้าร่วมโครงการ iTAP ได้รับประโยชน์ทั้งในเรื่องของการตลาด และการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้การเดินทางไปเสาะหาเทคโนโลยีในต่างประเทศที่ทางโครงการ iTAP จัดขึ้น เช่น จีน และฮ่องกง ยังช่วยทำให้เราได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น ได้เห็นว่าประเทศอื่นๆ มีการพัฒนาสินค้าไปถึงไหนแล้ว ซึ่งบางทีสิ่งที่เราคิดว่าเราได้พัฒนาดีแล้ว แต่พอได้ไปเห็นสินค้าของประเทศอื่นจึงรู้ว่าเขาพัฒนาไปมากกว่า ทำให้เราต้องกลับมาเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราให้ดีกว่าเดิมด้วย ”
นายกมล กล่าวต่อว่า ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจทำให้คนส่วนใหญ่ใช้จ่ายอย่างประหยัด เรื่องราคาของเฟอร์นิเจอร์น่าจะควบคู่กับคุณภาพและงานดีไซน์ที่ลงตัวและเหมาะสม ตอนนี้บริษัทฯ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ของตัวเองได้ ทำให้สามารถแก้ปัญหาเรื่องของการถูกกดราคาจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตหรือ OEM ไปได้มาก
ประชาสัมพันธ์โครงการ iTAP
หมายเลขโทรศัพท์ 02-270-1350-4 ต่อ 104,114,115
E-mail: pr_itap2003@yahoo.com
pr_itap@hotmail.com ค่ะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ