ออมสินจับมือสถาบันเอเชียศึกษา จัดเสวนาบทเรียนจากภัยพิบัติในพม่า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 21, 2008 16:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--ธนาคารออมสิน
นางขวัญใจ เตชะเสน ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากการที่เกิดภัยพิบัติพายุไซโคลนนาร์กีสในพม่า ธนาคารออมสินได้ร่วมกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยแม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “พิบัติภัยไซโคลนในพม่าและบทเรียน” เพื่อร่วมกันสรุปบทเรียนจากภัยพิบัติพายุไซโคลนนาร์กีส พร้อมระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เป็นผลกระทบจากพายุไซโคลนดังกล่าว อาทิ ดร.สมชาย ใบม่วง ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์อากาศ พลโทอำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ คุณชูศุกดิ์ วุฒิวโรภาส ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตร และร่วมรับฟังประสบการณ์ตรงจากผู้ประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีสในพม่า โดยมี ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา เป็นวิทยากร
การเสวนาดังกล่าวจะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ระหว่างเวลา 13.00 — 16.00 น. ณ ห้องประชุมจุมภฏ — พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก — รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งนอกจากการร่วมถกประเด็นเสวนาแล้ว ธนาคารออมสิน และสถาบันเอเชียศึกษายังเปิดรับเงินบริจาคเข้า “กองทุนน้ำใจไทยกู้ภัยพม่า” และรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือต่างๆ เพื่อส่งไปให้ผู้ประสบภัยจากพายุนาร์กีสในพม่าด้วย ผู้ที่สนใจสามารถสำรองที่นั่งหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2218-7468
นางขวัญใจกล่าวต่อไปว่า ธนาคารออมสิน และ สถาบันเอเชียศึกษา ตระหนักร่วมกันว่า พายุไซโคลนนาร์กีสที่ถล่มหลายพื้นที่ของพม่า โดยเฉพาะที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี และนครย่างกุ้ง เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 78,000 คน ยังไม่นับรวมผู้สูญหายที่มีอีกกว่า 56,000 คน ซึ่งองค์กรสหประชาชาติประมาณการจะมีชาวพม่าได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากพายุไซโคลนนาร์กีสทั้งสิ้น 2.4 ล้านคน นับเป็นโศกนาฏกรรมที่นำความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงสู่ชาวพม่าและมวลมนุษยชาติ
ขณะเดียวกัน องค์กรบรรเทาทุกข์สากลต่างๆ และประชาคมโลกกำลังวิตกต่อสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ดำเนินไปด้วยความช้าล่า และแม้พิบัติภัยจะเกิดขึ้นนานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว แต่สิ่งของยังชีพและความช่วยเหลือต่างๆ กลับยังไปไม่ถึงมือผู้ประสบภัยมากนัก ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลพม่าปฏิเสธความช่วยเหลือโดยตรงจากรัฐบาลต่างชาติ ตลอดจนความวิตกต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่มากับภาวะน้ำท่วม อาทิ โรคอหิวาห์ ท้องร่วง แผลติดเชื้อ ฯลฯ รวมทั้งภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กแถบปากแม่น้ำอิระวดีที่มีมากกว่า 30,000 คน ยังไม่นับรวมผลกระทบระยะยาวอื่นๆ อาทิ ปัญหาความยากจนที่เกิดจากพื้นที่เกษตรกรรมและฟาร์มปศุสัตว์ได้รับความเสียหายจำนวนมาก ปัญหาเด็กกำพร้าและเด็กถูกทอดทิ้ง เนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิตจากเหตุพายุไซโคลนถล่ม และผลกระทบทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค
“ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพม่ายังสะท้อนให้เห็นถึงการขาดองค์ความรู้เรื่องภัยธรรมชาติของรัฐบาลพม่ารวมทั้ง การเตรียมพร้อมรับมือก่อนเกิดภัยธรรมชาติ และการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น รวมทั้งการฟื้นฟูผู้ประสบภัยในระยะยาว ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นบทเรียนที่ดีแก่ประเทศไทยต่อการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ” นางขวัญใจกล่าวปิดท้าย
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารออมสิน
โทร.02-299-8000 ต่อ 010253-4 โทรสาร 02-2998493 email: prgsb2006@gmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ