จิตแพทย์เผยมนุษย์เงินเดือนเครียดหนัก หวั่นอาจฆ่าตัวตายได้

ข่าวทั่วไป Wednesday May 21, 2008 16:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--มายแบรนด์ เอเจนซี่
จิตแพทย์เผยมนุษย์เงินเดือนเครียดหนัก หวั่นอาจฆ่าตัวตายได้ จิตแพทย์ออกโรงเตือนประชาชนให้มีสติ รู้จักยับยั้งอารมณ์ ท่ามกลางภาวะสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้น เกรงจะเกิดความเครียด วิตกกังวล และซึมเศร้า เผยเหล่ามนุษย์เงินเดือน เฮโลพบจิตแพทย์สาเหตุหลักเครียด หมอเตือนพ่อแม่เครียดมีผลกระทบเด็ก น.พ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสุขภาพจิตของคนไทย มีระดับความเครียดสูงมาก โดยมีปัจจัยพื้นฐานมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจ สถาบันครอบครัว การแข่งขันที่สูงในเรื่องการเรียน การทำงาน บทบาทของสถานศึกษา และศาสนา เปรียบเสมือนที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในสังคมได้ เริ่มอ่อนแอลงไป อีกทั้งในขณะนี้ ความขัดแย้งทางด้านการเมือง บวกกับเศรษฐกิจในเรื่องของปากท้อง น้ำมันแพง ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้เกิดความกดดันในการดำเนินชีวิตสูงมาก และการเริ่มกลับมาระบาดของยาเสพติดรอบใหม่ ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ชัดจากการที่มีองค์กรบริษัทหลายแห่งติดต่อโรงพยาบาลฯ ให้ส่งเจ้าหน้าที่และจิตแพทย์เข้าไปให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับจิตเวช เนื่องจากพนักงานในองค์กรมีความเครียดสูง ทำให้เกิดปัญหาต่อคุณภาพงานและผลประกอบการ “แรงกดดันต่อผู้คนในการใช้ชีวิตส่วนที่แรงที่สุดก็คือเรื่องของปัญหาทางด้านการเงินในครอบครัว ที่เป็นผลลัพธ์สุดท้ายของปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเห็นได้จากการขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากผู้ใช้แรงงาน พอมีปัญหาทางด้านการเงินแล้วสิ่งที่ตามมาก็คือ ความเครียดในครอบครัว ถ้าครอบครัวไม่แข็งแรง ไม่มีความเข้าใจกัน ใกล้ชิดกัน ผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวย่อมเกิดได้ง่ายและรุนแรง คนที่มีพื้นฐานสุขภาพจิต ไม่แข็งแรง ก็จะเกิดความเครียดและเกิดการเจ็บป่วยทางจิตใจที่รุนแรงได้ เช่น อาการวิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ปัญหาเรื่องของการควบคุมอารมณ์ การใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นและต่อตนเอง รวมทั้งปัญหาการฆ่าตัวตาย เมื่อรู้สึกว่าไม่มีทางออกกับปัญหาที่ต้องเผชิญ หรือบางรายอาจจะหลุดจากความเป็นจริง เช่น มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง เกิดปัญหาการติดเหล้า ยานอนหลับ หรือแม้กระทั่งยาเสพติด ซึ่งจะเป็นต้นเหตุนำไปสู่ปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อนมากกว่าที่ควรจะเป็น” น.พ. ไกรสิทธิ์ กล่าว กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์ แนะ 3 ขั้นตอนเพื่อรับมือกับความเครียดที่รุมเร้าชีวิตของแต่ละคน ดังนี้ อันดับแรกคือ ต้องตั้งหลักให้ได้ก่อน ต้องเชื่อมั่นว่าทุกปัญหามีทางออก ไม่ใช่ทางตัน เพื่อให้ตัวเองมีความหวังไม่หมดกำลังใจข้อนี้สำคัญที่สุดส่วนจะแก้ไขและหาทางออกได้ช้าหรือเร็วนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ข้อสอง คือ การดำเนินชีวิตโดยใช้หลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง เป็นสิ่งที่สำคัญ และมีประโยชน์มาก เพราะจะช่วยลดแรงกดดันทางด้านการเงินในชีวิตของแต่ละคน โดยการพยายามกินใช้ตามกำลังของแต่ละคน ไม่เกินกำลัง ก่อหนี้ให้น้อยที่สุด สิ่งนี้จะช่วยลดเวลาของการดิ้นรน เพื่อตอบสนองความต้องการทางวัตถุ ทำให้มีเวลาให้กับตนเอง และคนในครอบครัว ทำให้เกิดความใกล้ชิด ความเข้าใจ ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เป็นกำลังใจให้แก่กันและกันได้ ข้อสาม นอกจาก 2 ข้อข้างต้นแล้ว วิธีคิดที่จะช่วยลดความกดดันอีกอย่างหนึ่งก็คือ การมองว่าการเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเรื่องธรรมชาติ ปกติ ธรรมดา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ แต่ละคนก็อยู่ในช่วงหนึ่งของเหตุการณ์ เราจะคาดหวังให้ทุกอย่างไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงไม่มีที่สิ้นสุดมีขึ้นมีลง สิ่งที่ทุกคนต้องกระทำ คือต้องพยายามปรับตัวและวิธีการดำเนินชีวิตให้เข้ากับสถานการณ์แต่ละช่วงให้ได้ นอกจากคำแนะนำสามข้อข้างต้น น.พ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงวิธีการฝึกฝนในชีวิตประจำวัน 3 ข้อที่มีประโยชน์ดังนี้ 1. การฝึกผ่อนคลายจิตใจในแต่ละวันเป็นสิ่งที่จำเป็น เปรียบเทียบกับสุขภาพทางกาย คนเราทุกคนต้องอาบน้ำชำระล้างคราบสกปรกเพื่อให้เกิดความสะอาดสบายตัวในทุก ๆ วัน จิตใจก็เหมือนกันใน ทุก ๆ วันแต่ละคนจะมีเรื่องเข้ามากระทบจิตใจ ทำให้อารมณ์ขุ่นมัว เศร้าหมอง เครียด ไม่แจ่มใส หากอารมณ์เหล่านี้ไม่มีการระบายออกก็จะเกิดความเครียดสะสม ต้องเคลียร์อารมณ์ในทุก ๆ วันออกไป เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็ควรหาเวลาในแต่ละวัน วันละ 5 — 20 นาที ในการหยุดพักหยุดคิดเรื่องเครียดต่าง ๆ หางานอดิเรก ฟังเพลง ชมนก ชมไม้ เลี้ยงปลา กิจกรรมที่ตนเองชอบ รวมทั้งการฝึกผ่อนคลาย เพราะทุกคนต้องการเวลาส่วนตัว เหมือนเวลาอาบน้ำก็เป็นเวลาส่วนตัว หากคนเราไม่มีเวลาส่วนตัวที่จะผ่อนคลายก็จะทำให้เกิดภาวะเครียดได้ “การฝึกผ่อนคลายก็เหมือนการฝึกสมาธิ จะช่วยให้อารมณ์ลบไม่ขังสะสม ทำให้ถึงจุดเดือดได้ยาก แต่ถ้าหากสะสมไว้มาก ๆ พอมีอะไรมาสะกิดนิดเดียวก็อาจจะถึงจุดเดือดและระเบิดได้ง่าย” น.พ. ไกรสิทธิ์ กล่าวและเสริมว่า ความแข็งแรงของจิตใจและสุขภาพจิตของแต่ละคนมีพื้นฐานไม่เท่ากัน แต่ละคนก็จะรับเรื่องหนัก ๆ ในชีวิตได้ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นอย่าพยายามทำอะไรเกินกำลังของตัวเอง 2. ให้พยายามสังเกตอารมณ์ตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ฝึกยับยั้งอารมณ์โดยการนับ 1 ถึง 100 เพราะการชะลออารมณ์ จะทำให้เรารู้เท่าทันอารมณ์และเกิดสติ มีเวลาคิดว่า ควรจะทำอย่างไรที่จะออกจากตรงนั้นไปได้ 3. ใช้เวลาหาความรู้เกี่ยวกับศาสนาหรือจิตวิทยาไปด้วยเพื่อที่จะปรับเปลี่ยนและขยายมุมมองของชีวิตให้กว้าง เพราะคนที่มีมุมมองกว้างเวลาเผชิญกับปัญหา ก็จะมองเห็นทางออกหรือทางเลือกได้มากกว่า แล้วโอกาสที่จะรู้สึกว่าทางตันและหมดหนทางจะน้อยลง กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์ ระบุว่า เด็กและเยาวชนอาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากความเครียดของพ่อแม่ เพราะถ้าหากว่าพ่อแม่มีภาวะความเครียดสูง โอกาสที่จะทำหน้าที่พ่อแม่ได้ดีก็เป็นไปได้ยาก ทำให้ความเครียดลงไปสู่เด็ก ๆ ได้หรือแม้แต่โอกาสที่ครอบครัวจะอยู่ใกล้ชิดกันนั้นก็มีน้อยลง เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ค่าครองชีพสูงแต่รายได้ต่ำ ทำให้พ่อแม่เครียดวุ่นอยู่กับงานจนไม่มีเวลาดูแลลูก ขณะที่ปัจจุบัน สิ่งยั่วยุไปทางเสียในสังคมมีมาก ทำให้โอกาสที่เด็กจะไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งไม่ดีก็เป็นไปได้สูง เช่น ติดเกมส์ ชอบเที่ยวเตร่ และติดยาเสพติด หรือบางกรณีอาจเกิดอาการว้าเหว่ ซึมเศร้า รวมไปถึงปัญหาการ ฆ่าตัวตาย ทางที่ดีแต่ละคนต้องดูแลตัวเองให้ดี และดูแลคนรอบข้าง ครอบครัว ให้ตระหนักในการฝึกสติเพื่อช่วยในการควบคุมอารมณ์ เพราะโอกาสที่จะเกิดปัญหาจากความหุนหันพลันแล่นกับคนในครอบครัวก็จะน้อยลง
สัมภาษณ์จิตแพทย์เพิ่มเติม : พ.ญ.จันทิมา องค์โฆษิต ไกรฤกษ์ ประธานกรรมการ, พ.ญ.ประไพ สุเทวีบุรี รองประธานกรรมการ, น.พ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย กรรมการผู้จัดการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชทั่วไป : น.พ. กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล, พ.ญ.ระพีพรรณ แสงโสมวงศ์ จิตเวชเด็กและวัยรุ่น : พ.ญ. เพียงทิพย์ พรหมพันธ์, น.พ.จอม ชุมช่วย , พ.ญ.พัชรี พรรณพานิช จิตเวชสุขภาพทางเพศและครอบครัว : น.พ. สุกมล วิภาวีพลกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหาการนอน : น.พ. สุรชัย เกื้อศิริกุล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ ติดต่อขอสัมภาษณ์แพทย์ได้ที่ บริษัท มายแบรนด์ เอเจนซี่ จำกัด
คุณพิมพร ศิริวรรณ โทร 081-9282808 คุณ จีรศักดิ์ หลักเมือง โทร 083-136-8267

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ