นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงความพร้อม ของสถานพยาบาลสังกัด กทม. เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว รวมทั้งการจัดเตรียมแผนฉุกเฉินรองรับสถานการณ์ในระดับต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า สนพ. ได้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยติดตามสถานการณ์ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว เตรียมพื้นที่รองรับหากต้องการใช้ปฏิบัติการบนพื้นที่ราบทดแทนพื้นที่บนอาคารสูง เตรียมพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ บุคลากร ทีมแพทย์และพยาบาลในการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนรองรับสถานการณ์ พร้อมทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โรงพยาบาลนอกสังกัด เพื่อสนับสนุนและรับส่งต่อผู้ป่วยอย่างเต็มที่ โดยศูนย์เอราวัณ พร้อมรับการประสานงาน 24 ชั่วโมง รวมทั้งได้ประสานความร่วมมือกับสำนักการโยธาและสำนักงานเขตพื้นที่ของโรงพยาบาลในสังกัดฯ เพื่อสำรวจและประเมินความเสียหายของอาคารโรงพยาบาลที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว พร้อมวางแผนซ่อมแซม ปรับปรุง และบำรุงรักษา เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรและประชาชน โดยทีมวิศวกรได้เข้าสำรวจพื้นที่ ให้ความมั่นใจโรงพยาบาลในสังกัด เพื่อความปลอดภัย สามารถให้บริการประชาชนได้ตามปกติ ทั้งนี้ สนพ. ขอแสดงความห่วงใยและแสดงความเสียใจจากทุกการสูญเสีย ขอให้กำลังใจและก้าวข้ามผ่านวิกฤตการณ์ไปด้วยกัน
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนพ. และ สนอ. ทำงานร่วมกันในการดูแลสุขภาพประชาชนแบบบูรณาการในภาวะฉุกเฉิน โดย สนอ. ให้บริการระดับปฐมภูมิผ่านศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข Plus (ศบส.พลัส) 13 แห่ง โดยให้บริการเตียงพักคอย เพื่อสังเกตอาการ สามารถใช้รองรับผู้ป่วยผู้บาดเจ็บเบื้องต้น ขณะเดียวกัน สนพ. มีโรงพยาบาล 11 แห่ง รับผิดชอบด้านการรักษาขั้นสูงและส่งต่อผู้ป่วย โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. (ศูนย์เอราวัณ) เป็นศูนย์สั่งการระบบแพทย์ฉุกเฉิน และบริหารจัดการเตียงระดับเขตและเมือง นอกจากนี้ สนอ. ยังได้ปฏิบัติงานภายใต้ระบบบัญชาการเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉิน (EOC) โดยกลุ่มภารกิจปฏิบัติการภาคสนามให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ผ่านบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
ทั้งนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุข Plus ในกลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 19 วงศ์สว่าง (เขตบางซื่อ) กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 38 จี๊ด-ทองคำ บำเพ็ญ (เขตดุสิต) และศูนย์บริการสาธารณสุข 52 สามเสนนอก (เขตห้วยขวาง) กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 34 โพธิ์ศรี (เขตพระโขนง) และศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย (เขตคลองเตย) กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 45 ร่มเกล้า (เขตลาดกระบัง) และศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ (เขตบึงกุ่ม) กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา (เขตทวีวัฒนา) กลุ่มเขตกรุงธนใต้ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 58 ล้อม-พิมเสน ฟักอุดม (เขตราษฎร์บูรณะ)
ส่วนการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสถานพยาบาลในสังกัด และอาคารของหน่วยงานในสังกัด กทม. ทุกแห่ง โดยเฉพาะอาคารสูงและอาคารเก่าที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว รวมทั้งแนวทางการซ่อมแซมปรับปรุงและบำรุงรักษา เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้อาคารและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดย สนอ. ร่วมกับ สนย. และสำนักงานเขต ประสานไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง สำนักงานและกองต่าง ๆ ในสังกัด สนอ. เพื่อดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายของอาคารและระบบสาธารณูปโภคเบื้องต้น หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว โดยการดำเนินการดังกล่าวให้ความสำคัญกับอาคารสูง อาคารเก่า และอาคารที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ มุ่งเน้นการตรวจสอบโครงสร้างอาคาร ความมั่นคงแข็งแรงของระบบไฟฟ้า ระบบประปา รวมถึงระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินความปลอดภัยในการใช้งาน สำหรับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนผู้มารับบริการ