กทม. เดินหน้าพัฒนาการศึกษาปฐมวัย ขยายอนุบาล 1 ครอบคลุม 50 เขต-จัดอบรมเพิ่มศักยภาพอาสาสมัครดูแลเด็ก

ข่าวทั่วไป Wednesday April 2, 2025 13:50 —ThaiPR.net

กทม. เดินหน้าพัฒนาการศึกษาปฐมวัย ขยายอนุบาล 1 ครอบคลุม 50 เขต-จัดอบรมเพิ่มศักยภาพอาสาสมัครดูแลเด็ก

นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัยในโรงเรียนสังกัด กทม. และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในด้านต่าง ๆ ให้กับเด็กปฐมวัย ผ่านโครงการและกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ที่หลากหลายและเหมาะสมกับช่วงวัย ตามข้อเสนอเชิงนโยบาย "3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม" ของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัยและมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า สนศ. ร่วมกับสำนักอนามัย (สนอ.) และสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) บูรณาการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ปฐมวัย โดยมุ่งเน้นพัฒนาการจัดการเรียนการสอนปฐมวัย (อนุบาล 2 และอนุบาล 3) ในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 429 โรงเรียน อย่างต่อเนื่อง และริเริ่มนโยบายการเปิดชั้นเรียนอนุบาล 1 สำหรับเด็กอายุ 3 ปี ใน 6 โรงเรียนโมเดลนำร่อง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นมา และขยายผลเปิดเพิ่มขึ้นถึง 312 โรงเรียน จาก 437 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2568 ซึ่งครอบคลุมครบทั้ง 50 เขต เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน และเสริมสร้างพัฒนาการเด็กเล็กให้สมวัยตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ

โดยจัดการเรียนการสอนปฐมวัยของ กทม. ใช้แนวทางการเสริมสร้างพัฒนาการด้วย "Executive Functions" หรือ "EF" ซึ่งมีทั้งหมด 9 ด้าน โดยแบ่งเป็นทักษะพื้นฐาน (Basic) 3 ด้าน และทักษะสูง (Advance) 6 ด้าน เน้นการสร้างและกระตุ้นให้เกิดการคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น และปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข รวมทั้งมีพัฒนาการที่สมบูรณ์และมีความพร้อมในการเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 และพร้อมจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม ซึ่งการอยู่กับคนอื่นเป็น มีความสุขเป็น คือการฝึกทักษะสมองสำคัญที่เรียกว่า EF ซึ่งช่วยให้เด็กเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาทางด้านสมาธิ หากไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้องอาจทำให้มีปัญหาด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิต การเรียน และการเข้าสังคมในอนาคต การฝึกทักษะสมองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองและโรงเรียนไม่ควรละเลย เพราะทักษะ EF นี้ คือ ทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง เป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่มีความเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำ เป็นทักษะที่ทุกคนต้องใช้และมีอิทธิพลต่อความสำเร็จในชีวิต ซึ่งมนุษย์ไม่ได้เกิดมาพร้อมทักษะ EF แต่สามารถพัฒนาได้ด้วยการฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF คือ อายุ 3 - 6 ปี เพราะสมองส่วนหน้าพัฒนาได้มากที่สุด และเป็นช่วงอายุของเด็กที่กำลังเข้ารับการศึกษาในระดับปฐมวัย หรืออนุบาลศึกษาในระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบัน

ทั้งนี้ สนศ. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดการศึกษาปฐมวัย โดยประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. โดยเฉพาะการจัดสื่อการเรียนการสอนและสวัสดิการด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ตลอดจนบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของเด็กปฐมวัยในพื้นที่กรุงเทพฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ โรงพยาบาล หน่วยงานด้านการสาธารณสุข องค์กรภาครัฐและเอกชนด้านการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเล็กก่อนวัยเรียน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อนำฐานข้อมูลมาวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมนโยบาย กทม. 9 ดี 9 ด้าน มิติด้านเรียนดี ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อลูกหลานของพี่น้องประชาชนกรุงเทพฯ ให้ได้มากที่สุด

ส่งเสริมการใช้โทรศัพท์มือถือสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนอย่างถูกวิธี และให้เป็นสถานที่สำหรับการบริการทางเลือก เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง บุคลากร และประชาชนในชุมชนโดยรอบโรงเรียนได้เข้ารับการปรึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบุตรหลานก่อนวัยเรียนให้ลด ละ เลิกการอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน จากนักจิตวิทยา พยาบาลวิชาชีพ และผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จากสถานพยาบาลและหน่วยงานด้านการบริการสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ

ขณะเดียวกันได้กำหนดแนวทางความร่วมมือในโรงเรียนสังกัด กทม. ผ่านกลไกการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนสังกัด กทม. ซึ่งจัดให้มีการประชุมทุกปีการศึกษา เพื่อหาทางออกและสะท้อนปัญหา รวมทั้งหาแนวทางการบรรเทาปัญหาและแก้ปัญหาด้านเด็กและเยาวนร่วมกันในสภาพบริบทชุมชนเกื้อกูล โดยเริ่มต้นจากฐานครอบครัวเข้มแข็งและร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก โดยจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความรู้ความเข้าใจและตระหนักในการป้องกันปัญหา รวมถึงการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก เนื่องจากครอบครัวมีส่วนสำคัญที่สุดที่จะร่วมสร้างสุขภาพกาย สุขภาพใจ และพัฒนาการทางสังคมให้เด็กมีคุณภาพ เป็นอนาคตที่สำคัญของชาติ รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือกับกรรมการชุมชน เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวในระดับชุมชน และแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้คณะกรรมการชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน และศูนย์กลางและกลไกการเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไขปัญหา ให้คำแนะนำและส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ครอบครัว เพื่อสร้างกลไกและกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ของชุมชนเพื่อป้องกันความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจัง

นางสาวกาญจนา ภูพิพัฒน์ผล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวว่า สพส. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านการดูแลศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ สร้างวินัยเชิงบวก และส่งเสริมคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. ตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ให้แก่อาสาสมัครผู้ดูแลเด็กและผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 รุ่น รุ่นละ 100 คน เพื่อส่งเสริมศักยภาพให้อาสาสมัครผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. ได้มีความรู้ ทักษะ และความสามารถในการปฏิบัติงาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนให้มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย ตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เสริมสร้างวินัยเชิงบวกให้แก่เด็ก ลดใช้ความรุนแรงกับเด็กปฐมวัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงส่งเสริมการจัดกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครองเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือสื่อหน้าจอของบุตรหลานอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย และการใช้เวลากับบุตรหลาน อีกทั้งได้ประสานสำนักงานเขตในภารกิจด้านการดูแลศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในพื้นที่สำรวจความต้องการ สื่อการเรียนการสอนให้เพียงพอ และครอบคลุมต่อการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน


แท็ก อนุบาล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ