
เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเสวนาทางวิชาการเรื่อง "พลังของผู้นำทางวิชาการในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" จัดขึ้นโดยสถาบันพัฒนาการศึกษาและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยการศึกษาเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยมี ดร.รัตนา แซ่เล้า ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ปี 2549 และ อ.ชัยวัฒน์ แก้วพันงาม จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จากประเทศไทย เข้าร่วมในการเสวนาทางออนไลน์ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิชาการและนักการศึกษาในภูมิภาค เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ค้นหาทางออกในการปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21 โดยหัวใจหลักของการเสวนาคือการตั้งโจทย์ว่าในภาวะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บทบาทของผู้นำครูจำเป็นต้องเป็นอย่างไร และปัจจัยใดช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้นำครูให้ยั่งยืน
ดร.รัตนา แซ่เล้า ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ปี 2549 และผู้ก่อตั้งกลุ่ม UNITE Thailand กล่าวถึงบริบทของประเทศไทย และความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพผู้นำทางวิชาการ เพื่อเป็นพื้นฐานในการหล่อเลี้ยงผู้นำครูให้แข็งแกร่ง และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างนโยบายรัฐ และการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน
"ประเทศไทยได้พยายามปฏิรูประบบการศึกษา ปี 2542 โดยมีการแนะนำแนวทางการปฏิรูปทุกภาคส่วน และมีการเปิดตัวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ นักปฏิรูป "ยืม" แนวคิดต่างประเทศ เช่น การกระจายอำนาจ การเรียนรู้ที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง การประเมินคุณภาพ โดยหวังว่าจะปรับปรุงระบบที่มีลักษณะแบบรวมศูนย์ ยิ่งไปกว่านั้นโครงสร้างทางการเมืองยังไม่มั่นคงโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมากกว่า 20 คนเป็นผู้นำการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างผันผวน ในภาวะดังกล่าวผู้นำทางวิชาการได้นั่งอยู่ที่ทางแยกระหว่างนโยบายระดับชาติ และการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน ซึ่งจะสามารถรักษาเสถียรภาพของนโยบายเพื่อการปรับปรุงห้องเรียนให้ดีขึ้น พวกเขาเป็น "กล่องดำเล็กๆ " ที่แปลวาระระดับชาติให้เป็นแนวทางปฏิบัติในห้องเรียน
ความเป็นผู้นำของครูไม่ได้เกิดขึ้นในสูญญากาศ แต่ได้เติบโตในพื้นที่ที่ผู้บริหารโรงเรียนส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ มีการอภิปรายแบบเปิด การวิเคราะห์เปรียบเทียบจากโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็กในประเทศไทย ที่ดำเนินการชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ (PLC) ทำให้เห็นว่าผู้อำนวยการในฐานะผู้นำด้านการเรียนการสอน มีความสำคัญต่อการสร้างความเป็นผู้นำของครูเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ของนักเรียนอย่างไร ด้วยความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันระหว่างผู้อำนวยการ และครู จะสามารถรับประกันการสร้างผลลัพธ์เชิงนโยบายที่มีคุณภาพและเท่าเทียมกันได้"
ด้าน อ.ชัยวัฒน์ แก้วพันงาม จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงบทบาทของครูผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบอกว่า "การพัฒนาทักษะเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ICT) เป็นหัวใจสำคัญของการเป็นผู้นำทางการศึกษา ครูที่เชี่ยวชาญด้าน ICT ไม่เพียงแต่ปรับปรุงการสอนของตนเอง แต่ยังสามารถเป็นที่ปรึกษาสร้างสรรค์เนื้อหาดิจิทัล และแบ่งปันแนวทางการสอนกับผู้อื่น โดยมีกรอบแนวคิด TPACK และกรอบสมรรถนะของ UNESCO ICT สำหรับครู เป็นแนวทางในการพัฒนาครูให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงการสร้างองค์ความรู้ ซึ่งนำไปสู่การเป็นผู้นำทางการศึกษา ซึ่งโครงการ "Teacher Teach Show" ในประเทศไทยเป็นตัวอย่างสำคัญ ที่ช่วยเปลี่ยนครูให้กลายเป็นนักสร้างสรรค์เนื้อหาดิจิทัล ทำให้การสอนมีความน่าสนใจมากขึ้น ผ่านเทคนิคที่ใช้โดย YouTuber และนักการศึกษายุคใหม่
แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีความท้าทาย เช่น ครูบางส่วนยังขาดทักษะ ICT และการฝึกอบรมที่มีอยู่อาจยังไม่เพียงพอ แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสมากมายในการพัฒนา โดยเฉพาะการใช้ AI และเครื่องมือดิจิทัล เพื่อช่วยสนับสนุนการสอน การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครูที่จะเติบโตเป็นผู้นำทางการศึกษา นอกจากนี้การสร้างเครือข่ายความร่วมมือข้ามประเทศ ระหว่างประเทศในอาเซียนจะสามารถช่วยแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี สนับสนุนครูในทุกระดับของเทคโนโลยี และพัฒนาศักยภาพครูให้เป็นผู้นำทางดิจิทัลที่สามารถส่งผลกระทบในวงกว้าง ครูจะไม่ได้เป็นเพียงผู้สอนในห้องเรียน แต่สามารถเป็นผู้มีอิทธิพลทางการศึกษา ที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้"
นอกเหนือจากการพูดคุยในบริบทของประเทศไทย ที่ประชุมยังได้มุ่งเน้นไปที่ความสำคัญของความเป็นผู้นำของครู ในฐานะตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ในบริบทของฮ่องกง ดร.โฮ ชุน สิง แม็กเวลล์ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการศึกษาและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยการศึกษาเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน แนะนำและอธิบายว่าโรงเรียนในฮ่องกงมีคณะกรรมการและกลุ่มย่อยมากมาย โดยมีครูจำนวนมากเป็นผู้นำทีม ดร. โฮเน้นย้ำว่าผู้นำครูไม่เพียงแต่มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแนวทางปฏิบัติทั่วทั้งโรงเรียนด้วย เขากล่าวถึงโปรไฟล์ 3 ประการของผู้นำครู ซึ่งได้แก่ผู้อำนวยความสะดวก, ผู้นำแชมป์เปี้ยน และผู้ดำเนินการ ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าผู้นำครูประเภทต่างๆ เหล่านี้ส่งผลต่อความพึงพอใจในงาน ความไว้วางใจ และนวัตกรรมภายในโรงเรียน เขาสรุปโดยแนะนำว่าผู้นำโรงเรียนควรหล่อเลี้ยงผู้นำครูโดยสร้างสมดุล และสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการเสี่ยงและนวัตกรรม และสุดท้ายยังได้มีการหารือเกี่ยวกับความจำเป็นในการทำงานร่วมกันข้ามพรมแดน และความสำคัญของการสร้างสมดุลระหว่างความต้องการด้านการศึกษาทั่วโลก กับความท้าทายในท้องถิ่น