สมาคมเคมีฯ สพฐ. สช. จุฬาฯ และ Dow ลงนามความร่วมมือ เตรียมขยายผล "เคมีย่อส่วน" สู่โรงเรียนสพฐ.และเอกชนทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Friday April 4, 2025 13:33 —ThaiPR.net

สมาคมเคมีฯ สพฐ. สช. จุฬาฯ และ Dow ลงนามความร่วมมือ เตรียมขยายผล

สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) "โครงการพัฒนาการเรียนการสอนการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยหลักการของปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา" พร้อมร่วมมือกันขยายผลการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แนวใหม่ที่ "ย่อส่วน" การทดลอง เพื่อ "ขยายโอกาส" ทางการศึกษา ให้นักเรียนได้ประสบการณ์การลงมือทำด้วยอุปกรณ์การทดลองขนาดเล็กที่ประหยัด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนรัฐบาลสังกัด สพฐ. และ โรงเรียนเอกชนสังกัด สช. ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

โครงการนี้เป็นการขยายความร่วมมือในการต่อยอดความสำเร็จโครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" ซึ่ง Dow และ สมาคมเคมีฯ ได้ร่วมดำเนินงานมาครบ 10 ปี ในปีที่ผ่านมา โดยจะเพิ่มโอกาสให้ครูวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาในสังกัด สพฐ. และ สช. ได้เข้าอบรมและสามารถนำเทคนิคไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น เพื่อให้กับนักเรียนได้ใช้ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนในการทำการทดลองด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีใจรักในการศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ที่เป็นสาขาอาชีพที่ยังต้องการมากของประเทศในขณะนี้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต โดยโครงการฯ ในส่วนขยายความร่วมมือนี้ตั้งเป้าจะจัดอบรมให้ครูในโรงเรียนสังกัดมากกว่า 1,000 คน

นายวิชาญ ตั้งเคียงศิริสิน ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า "Dow ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการศึกษาด้านสะเต็ม หรือ STEM Education ที่ประกอบด้วยสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในประเทศไทย เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่จะคิดค้นนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในอนาคต การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แนวใหม่นี้ จะช่วยให้โรงเรียนจำนวนมากสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่ใช้งบประมาณต่ำ มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงได้อย่างรวดเร็ว เราจึงมีความชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ สพฐ. และ สช. เล็งเห็นความสำคัญของการทดลองแบบ "ย่อส่วน" เพื่อ "ขยายโอกาส" ทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยทั้งสองหน่วยงานจะเป็นกำลังสำคัญในการขยายผลซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการพัฒนาบุคคลกรด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยในอนาคต"

ศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย พาราสุข นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า "สมาคมฯ เป็นผู้ริเริ่มในการนำเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนมาเผยแพร่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทย โดยได้ออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมและกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับ Dow ในการนำความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี หลักการเคมีกรีน และการประยุกต์ใช้การทดลองเคมีแบบย่อส่วน มาเสริมการเรียนการสอนในโรงเรียน ทำให้นักเรียนได้ทำการทดลองจริงด้วยตนเองอย่างปลอดภัย และได้สร้างเครือข่ายครูต้นแบบเคมีแบบย่อส่วน เพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและต่อยอดองค์ความรู้ได้มากขึ้น ครูต้นแบบจะทำหน้าที่เผยแพร่เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนแก่เพื่อนครูที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ในความร่วมมือครั้งนี้ สมาคมฯ จะทำหน้าที่บริหารงานด้านวิชาการ จัดหาบุคลากรผู้ชำนาญที่เหมาะสมกับหลักสูตรฝึกอบรม และเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในการประเมินผลการเรียนการสอนตามแนวทางการสอนแบบใหม่ของโครงการฯ"

ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า "สพฐ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ วิชาการ และเอกชน ขับเคลื่อนโครงการ 'ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา' เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการทดลองที่ปลอดภัย ประหยัด และมีประสิทธิภาพ โครงการนี้มุ่งพัฒนาทักษะผู้เรียนให้คิด วิเคราะห์ และลงมือปฏิบัติจริง พร้อมยกระดับคุณภาพครูและสถานศึกษาให้สามารถจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สพฐ. จะสนับสนุนการนิเทศ ติดตาม และประชาสัมพันธ์โครงการอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมให้เกิดต้นแบบโรงเรียนที่มีแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ เราต้องการจุดประกายให้นักเรียนรักวิทยาศาสตร์ และสร้างพื้นฐานที่มั่นคงให้การศึกษาไทยก้าวทันโลกอย่างยั่งยืน"

นายมณฑล ภาคสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า "การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้โรงเรียนเอกชนสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงได้มากขึ้น สช. มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ และพร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนาครูและนักเรียนในโรงเรียนเอกชนให้มีความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง"

ศาสตราจารย์ ดร.ประณัฐ โพธิยะราช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ภาควิชาเคมีได้ริเริ่มนำแนวคิดของการทดลองเคมีแบบย่อส่วนมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ 2543 ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนของภาควิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบัน มีการทดลองเคมีแบบย่อส่วนหลายเรื่อง ที่ได้นำมาใช้สอนในวิชาบริการสำหรับนิสิตสายวิทยาศาสตร์ชั้นปีที่ 1 จึงเป็นที่น่ายินดี ที่ได้เห็นการนำมาประยุกต์ใช้สอนในโรงเรียนมัธยมศึกษาอย่างทั่วถึง จะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำด้านการสอนการทดลองวิทยาศาสตร์แก่นักเรียนในโรงเรียนเล็กและห่างไกล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นความสำคัญของโครงการนี้ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการพัฒนาเยาวชนให้มีประสบการณ์ที่ดีในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อต่อยอดการเรียนในระดับที่สูงขึ้นไป ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่เราได้ร่วมลงนามความร่วมมือ ซึ่งจะทำให้เราเข้ามาเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการเพื่อร่วมผลักดันโครงการดี ๆ ให้ไปถึงเด็กไทยทั่วประเทศต่อไป"

จากการดำเนินงานกว่า 10 ปี ของโครงการห้องเรียนเคมีดาว มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,200 แห่ง อบรมคุณครูไปแล้วกว่า 2,100 คน มีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์โดยตรงทั้งสิ้นกว่า 470,000 คน และในปีนี้ จะยังคงมีการจัดประกวดโครงงาน "ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน" DOW-CST Award เพื่อเป็นเวทีให้คุณครูและนักเรียนได้นำแนวคิดไปประยุกต์สร้างเป็นการทดลองใหม่ ๆ ด้วยวัสดุและทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง

สำหรับคุณครูและนักเรียนที่สนใจแนวทางการเรียนวิทยาศาสตร์ด้วย "ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน" สามารถเข้าชมข้อมูลได้ฟรีที่เว็บไซต์ http://www.DowChemistryClassroom.com


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ