ผู้แทนองค์การอนามัยโลกปลาบปลื้มพระมหากรุณาธิคุณ สืบสานโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก เร่งป้องกันปัญหาการคลอดก่อนกำหนด

ข่าวทั่วไป Wednesday April 23, 2025 11:30 —ThaiPR.net

ผู้แทนองค์การอนามัยโลกปลาบปลื้มพระมหากรุณาธิคุณ สืบสานโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก เร่งป้องกันปัญหาการคลอดก่อนกำหนด

ผู้แทนองค์การอนามัยโลกปลาบปลื้มพระมหากรุณาธิคุณ สืบสานโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก เร่งป้องกันปัญหาการคลอดก่อนกำหนด และชื่นชมกระทรวงสาธารณสุข UNICEF และ UNFPA ร่วมแสดงความยินดีที่ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก ในงานเฉลิมฉลองวันอนามัยโลก ปี 2025 ภายใต้แนวคิด "สุขภาพทารกที่ดี คือ จุดเริ่มต้นของความหวังและอนาคตที่สดใส" โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วย แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย ดร.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นางคยองซอน คิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมอนามัย ร่วมงาน ณ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Fanpage กรมอนามัย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญยิ่งของการดูแลสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อให้พวกเขามีสุขภาพที่แข็งแรงและเติบโตอย่างมีคุณภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้มุ่งมั่นพัฒนานโยบายและยกระดับมาตรฐานบริการด้านอนามัยแม่และเด็กอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมตั้งแต่การดูแลครรภ์ การส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ การส่งต่อผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง ไปจนถึงการดูแลทารกหลังคลอดอย่างเป็นระบบ ภายใต้นโยบาย '30 บาท รักษาทุกที่' ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างสะดวก ทั่วถึง และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ความสำเร็จของการดูแลสุขภาพแม่และเด็กนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ กระทรวงสาธารณสุขขอยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของมารดาและทารก และยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสิทธิการรักษา ตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้มารดาและทารกทุกคนได้รับการดูแลที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

ดร.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า WHO ได้เห็นถึง ความพยายามอย่างจริงจังของกระทรวงสาธารณสุขในการแก้ไขปัญหาการคลอดก่อนกำหนดในประเทศไทย เช่น การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการคัดกรองการติดเชื้อและความเสี่ยงอื่น ๆ ของการคลอดก่อนกำหนด การปรับปรุงการดูแลก่อนคลอด และการให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนแก่สตรีที่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนด เพื่อช่วยรักษาอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดก่อนกำหนดได้ จากสถิติการคลอดก่อนกำหนดทั่วโลก ในปี 2023 พบว่า มีทารกคลอดก่อนกำหนดถึงร้อยละ 11 ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤตระดับโลก แม้ว่าจะมีความพยายามลดการคลอดก่อนกำหนด แต่ตัวเลขยังลดลงเพียงเล็กน้อย แม้แต่ในประเทศที่มีรายได้สูงยังพบทารกคลอดก่อนกำหนดถึงร้อยละ 10 สำหรับประเทศไทยถือว่ามีผลงานโดดเด่นในภูมิภาคในการลดอัตราการตายมารดา และขอชื่นชมความเป็นผู้นำของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการคลอดก่อนกำหนด ถือเป็นตัวอย่างที่น่าทึ่งสำหรับนานาประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรอันล้ำค่ากับองค์การอนามัยโลกในการจัดงานครั้งนี้ และปราบปลื้มพระมหากรุณาธิคุณสืบสานโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก เร่งป้องกันปัญหาการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นอีกความท้าทาย เพราะสุขภาพทารกที่ดี คือ จุดเริ่มต้นของความหวังและอนาคตที่สดใส ภายใต้การณรงค์วันอนามัยโลกในปี 2025 นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ