
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายลดการคลอดก่อนกำหนดของหญิงไทย พร้อมสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ เพื่อดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด เน้นย้ำ การตรวจคัดกรองโรคที่มีผลต่อการคลอดก่อนกำหนด
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การคลอดก่อนกำหนดเป็นภาวะที่ทารกยังพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่สมบูรณ์เต็มที่ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงและอันตรายหลายด้าน อาทิ ปอดของทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักจะยังสร้างสารลดแรงตึงผิวได้ไม่เพียงพอ ทำให้ปอดขยายตัวได้ยาก เกิดภาวะหายใจลำบากและอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิตยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ควบคุมความดันโลหิตได้ยาก อีกทั้งยังสัมพันธ์กับการให้นมแม่ เพราะทารกที่คลอดก่อนกำหนด มักต้องได้รับการดูแลในหอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด ทำให้แม่และลูกไม่สามารถอยู่ด้วยกันตลอดเวลา ส่งผลต่อความถี่และระยะเวลาในการให้นม การประสานงานของการดูด กลืน และหายใจยังไม่ดี ทำให้ดูดนมได้ไม่ต่อเนื่อง เหนื่อยง่าย และเสี่ยงต่อการสำลัก กรมอนามัยมีภารกิจในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนทุกช่วงวัย ซึ่งต้นน้ำของการมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง เริ่มต้นตั้งแต่ตั้งครรภ์ สำหรับประเทศไทยอัตราการคลอดก่อนกำหนดในประเทศไทย ยังเกินเกณฑ์เป้าหมายที่ตั้งไว้ "กรมอนามัยจึงสนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับการฝากครรภ์โดยเร็วก่อน 12 สัปดาห์ มุ่งเน้นให้บริการตามมาตรฐานอนามัยแม่และเด็ก ให้ความรู้หญิงตั้งครรภ์ สร้างความตระหนักรู้เรื่องอันตรายและสัญญาณเตือนที่ต้องมาโรงพยาบาล รวมถึงการเฝ้าติดตาม สนับสนุน ให้การช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์ เน้นย้ำการตรวจคัดกรองโรคที่มีผลต่อการคลอดก่อนกำหนด และการบริหารระบบการส่งต่อการดูแลที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ยังเป็นการน้อมนำพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ในการพัฒนางานแม่และเด็กภายใต้โครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก เพื่อครอบครัวไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ ปี 2567 - 2570 สำหรับการเฉลิมฉลองวันอนามัยโลก ปี 2025 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา จัดขึ้น ภายใต้กรอบแนวคิด "สุขภาพทารกที่ดี คือ จุดเริ่มต้นของความหวังและอนาคตที่สดใส" ร่วมกับ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า การเฉลิมฉลองวันอนามัยโลก ในปี 2568 กรมอนามัย เน้นเพิ่มการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) ของมารดาและครอบครัว เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้วางนโยบายเพื่อพัฒนานโยบายการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการป้องกันและพัฒนาร่วมกัน ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) สำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) กิจกรรมในงานประกอบด้วย อภิปราย การส่งเสริมความร่วมมือ สนับสนุนผลักดันนโยบายในการพัฒนาการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด การสื่อสารนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันและลดการคลอดทารกก่อนกำหนด ให้แก่บุคลากรสาธารณสุข และสังคมได้รับทราบและตระหนักรู้ เพื่อพร้อมใจกันในการร่วมมือแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ ดร. โอลิเวียร์ นีเวรัส เจ้าหน้าที่การแพทย์ด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย คุณจตุพร เอมพันธ์ เพจนมแม่แฮปปี้ นายแพทย์อัครวัฒน์ เพียวพงภควัต ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ เป็นผู้ดำเนินรายการ